ขึ้นชื่อว่า “ยาคุมฉุกเฉิน” แค่ชื่อก็บอกไว้อยู่แล้วยาคุมกำเนิดชนิดนี้เหมาะสมกับกรณีฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยบังเอิญ เผลอ หรือถูกบังคับ ถุงยางอนามัยรั่ว หรือหลุด เป็นต้น
ทำความรู้จัก “ยาคุมฉุกเฉิน”
หลายคนสงสัยว่ายาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินมีความเหมือน หรือแตกต่างจากยาคุมแบบปกติอย่างไร อันตรายหรือไม่ จริงๆ แล้วการใช้ยาคุมฉุกเฉินก็เหมือนกับการใช้ยาอื่นๆ คือมีประโยชน์ต่อเมื่อใช้อย่างถูกต้องและถูกวิธีเท่านั้น ยาคุมฉุกเฉินที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบันจะมีลักษณะเป็นกล่อง โดย1 กล่องจะมี 1 แผง แต่ละแผงมียาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด โดยในแต่ละเม็ดประกอบไปด้วยยาที่เป็นฮอร์โมนขนาดสูง ลีโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel)
วิธีการรับประทานที่ถูกต้อง คือรับประทานเม็ดแรกให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์แบบที่ไม่ได้ป้องกัน อย่างน้อยที่สุด คือไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง และรับประทานเม็ดที่ 2 หลังจากเม็ดที่ 1 ภายใน 12 ชั่วโมง และไม่แนะนำให้รับประทานยาเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่องต่อเดือน
ยาคุมฉุกเฉินอาจมีผลข้างเคียง
การทานฮอร์โมนในปริมาณที่สูงมาก ผู้ใช้บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ และบ่อยครั้งจะทำให้ประจำเดือนมาเร็ว หรือช้าลงได้ มีอาการปวดท้อง เจ็บคัดเต้านม มีเลือดออกกระปริบกระปรอย หรือมีเลือดออกมากระหว่างเดือน
หากรับประทานในขณะตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ เช่น ทำให้เกิดความผิดปกติของหัวใจ หลอดลม กระดูกสันหลัง หลอดอาหาร ไต แขน หรืออาจทำให้ทารกมีความปกติบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ได้ และห้ามใช้ในคนที่เป็นโรคตับ นิ่วในถุงน้ำดี และมารดาที่ให้นมบุตร หลังจากใช้ยาถ้าประจำเดือนยังไม่มาเกินกว่า 1 สัปดาห์ ควรตรวจดูว่าเป็นเพราะตั้งครรภ์หรือไม่ หากสงสัยควรไปปรึกษาแพทย์
รับประทานยาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ดพร้อมกันได้ หรือไม่ ?
สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด พร้อมกันในครั้งเดียวได้ โดยที่ประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่แตกต่างจากการแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง ทั้งนี้ การรับประทานครั้งเดียวจะทำให้สะดวกมากกว่าการแบ่งยารับประทาน แต่บางรายอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น พบอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ง่ายกว่าการแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง
ข้อดีของยาคุมฉุกเฉิน
เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินเป็นการใช้ยาเพียงระยะสั้น จึงไม่มีข้อห้ามที่ยุ่งยากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการใช้ยาคุมกำเนิดวิธีนี้สู้วิธีการใช้ยาคุมฮอร์โมนรวมแบบปกติไม่ได้ และจะไม่มีผลป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นอีกครั้งหลังรับประทานยากินไปแล้ว นอกเสียจากต้องกินยาชุดใหม่
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมฉุกเฉิน ไม่ได้มีผลต่อการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ วิธีป้องกันโรคติดต่อ และสามารถคุมกำเนิดได้ดีที่สุด คือ การใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนี้ ยาคุมฉุกเฉินยังไม่ก่อให้เกิดการแท้งได้ ดังนั้น ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง แต่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น เนื่องจากตัวยาเข้าไปในร่างกายก่อนที่จะมีการฝังตัวของไข่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก แต่หากไข่ที่ผสมอสุจิได้ฝังตัวที่ผนังมดลูกไปแล้ว ประสิทธิภาพของยาก็จะไม่ได้ผล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 0-2271-7000 ต่อ สุขภาพสตรี