วิธีรับมือกับผู้ป่วยโรคจิตเภท อยู่ร่วมกันได้ แค่เข้าใจกันและกัน
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
05-ม.ค.-2566
       โรคจิตเภท (Schizophrenia) คือ ภาวะที่สมองมีความผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหรือการรับรู้ที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น คิดว่าจะมีคนมาทำร้าย หรือมีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือคำพูดที่แปลกและแตกต่างจากคนทั่วไป
       บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยโรคจิตเภทถูกคนในสังคมมองจากภายนอก และตัดสินในแง่ลบ จนทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดมากขึ้น และอาการของโรคแย่ลง แต่หากครอบครัว และคนในสังคมมีความรู้ และความเข้าใจในตัวผู้ป่วยมากขึ้นก็จะทำให้สามารถมองผู้ป่วยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้

วิธีรับมือและอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคจิตเภท
สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่ม ดังนี้
       1. คนในครอบครัว
            คนในครอบครัวควรเข้ามาพบแพทย์ร่วมกับผู้ป่วย หรือหาความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ ว่าโรคจิตเภทคืออาการป่วยอย่างหนึ่ง ไม่ใช่นิสัยของผู้ป่วย ซึ่งครอบครัวควรทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ป่วยไม่ได้มีความตั้งใจที่จะแสดงอาการเหล่านี้ออกมา จะได้ไม่เกิดการตำหนิกันขึ้น โดยเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ทางครอบครัวควรชวนมารับการรักษา และคอยช่วยให้เขารับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้อาการดีขึ้น และไม่มีอาการกำเริบในระยะยาว

       2. บุคคลอื่นๆ ในสังคม
            หากผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบ ไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบ ก็ไม่ควรแสดงอาการรังเกียจ โดยให้คิดว่าเป็นเหมือนอาการป่วยของโรคทั่วๆ ไป หรือในบางครั้งเราอาจมีเพื่อนร่วมงานเป็นผู้ป่วยจิตเภทที่อยู่ในระยะยะหลงเหลือ ซึ่งเขาอาจจะทำอะไรช้าหรือพูดช้า ก็ควรเปิดใจให้มากขึ้น รอคอยเขาหรือเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ไม่ควรไปเร่ง เนื่องจากจะทำให้ผู้ป่วยยิ่งกดดัน และมีอาการมากขึ้น


คำแนะนำจากแพทย์ เกี่ยวกับมุมมองต่อผู้ป่วยโรคจิตเภท
       อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า โรคจิตเภทก็เหมือนกับโรคทั่วไป หากผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้วอาการสงบ ก็จะเป็นเหมือนคนปกติทั่วไป ไม่จำเป็นต้องกลัวหรือแสดงอาการรังเกียจ ควรใจดี และเปิดใจยอมรับกับผู้ป่วย หากเขายอมมารักษา ให้กล่าวคำชม และให้กำลังใจกับเขา เพียงเท่านี้ก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคจิตเภทในสังคมได้ เพียงแค่อาศัยความเข้าใจกัน และกันเท่านั้น
พญ.อังค์วรา วงศ์อุดมมงคล
จิตแพทย์
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ Let's Talk