โรคที่มากับหน้าร้อน
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
15-มี.ค.-2566
หน้าร้อนและลมแดด

          กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา เราได้ก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว แม้ว่าฤดูหนาวที่ผ่านมาของบ้านเราจะไม่ได้หนาวเหน็บจับใจสักเท่าไหร่ มีเพียงสายลมเย็นสบายๆ พัดมาให้คลายร้อนเป็นครั้งคราวเท่านั้น ต่อจากนี้เราต้องรับมือกับอากาศร้อนและสิ่งที่ตามมาพร้อมความร้อนนี้
      โรคลมแดด ฟังดูก็พอนึกภาพออกว่า เป็นที่สิ่งมาพร้อมกับหน้าร้อนของเราอย่างแน่นอน บางครั้งอาจจะเกิดขึ้นกับเราโดยไม่รู้ตัว ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและความแข็งแรงของร่างกายว่าสามารถต้านทานได้มากน้อยเพียงใด หากเราเพิกเฉยต่ออาการผิดปกตินี้ อาจอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว วันนี้เราจะมาทำความรู้จักงโรคลมแดดกัน เพื่อคอยเฝ้าระวังก่อนจะสายเกินแก้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคลมแดด : เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุประกอบกัน จนทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคลมแดดมีดังนี้
ปัจจัยที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายอย่างหนัก พบได้บ่อยในผู้สูงอายุซึ่งร่างกายมักทีภูมิต้านทานต่ำ, ร่างกายที่ไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนได้, ขาดการดื่มน้ำที่เพียงพอต่อวัน, หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็ส่งผลให้ความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิลดลงอีกด้วย
ปัจจัยที่เกิดจากการใช้กำลังหนักเกิดจากการใช้กำลังกายทั้งในแบบการออกกำลังกายหักโหม หรือเป็นการทำงานที่ใช้กำลังกายอย่างต่อเนื่อง มักพบได้ใน กลุ่มนักกีฬา กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และทหารเกณฑ์ เป็นต้น


อาการของโรคลมแดด : หากเราอยู่ในสภาพอากาศร้อนจัด อบอ้าวเป็นเวลานานพึ่งระวังอาการดังต่อไปนี้
  1. วิงเวียนศรีษะ
  2. ปวดศรีษะ
  3. รู้สึกอ่อนแรง
  4. คลื่นไส้
          เมื่อเกิดอาการดังกล่าว แล้วตัวเรายังฝืนทนกับสภาพอากาศร้อนจัด หรือ บริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเท จนเริ่มเกิดอาการพูดไม่ชัด เห็นภาพหลอน ชักเกร็ง ตัวร้อนและผิวเป็นสีแดง ควรนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

การรักษาโรคลมแดดเบื้องต้น
          ระหว่างที่ผู้ป่วยรอรถพยาบาลเพื่อนำส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล เราสามารถทำการลดอุณหภูมิร่างกายได้ด้วยการ พรมน้ำตามร่างกาย ใช้น้ำแข็งประคบตาม คอ รักแร้ ขาหนีบ หรือพัดลมให้อากาศถ่ายเท และไม่ควรมุงดูผู้ป่วยเพราะจะทำให้อากาศไม่ถ่ายเท

การลดโอกาสเสี่ยงเป็นโรคลมแดด
          หากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อนได้ แนะนำให้ปฏิบัติตัวดังนี้
  1. สวมเสื้อผ้าที่บางเบา เพื่อถ่ายเทอุณหภูมิในร่างกายได้โดยง่าย ไม่อบอ้าวแน่นจนเกินไป
  2. จิบน้ำบ่อยๆ เท่าที่มีโอกาส เพื่อให้ร่างกายได้ขับอุณหภูมิความร้อนออกจากร่างกายทางเหงื่อ
  3. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะที่อยู่ในอากาศร้อนจัด เพราะจะไปเพิ่มการขับปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป
  4. ใช้กำลังกายเท่าที่จำเป็น หากรู้สึกเหนื่อยจนหายใจหอบ หรือเหงื่อออกมากกว่าปกติ ควรรีบหยุดพัก หลีกเลี่ยงการทำงานหนักช่วงสายและบ่าย เพราะอุณหภูมิจะสูงสุดในช่วงนั้นของวัน


                        ขอบคุณบทความดีๆ จาก

                      นพ.วีระยุทธ บุญเกียรติเจริญ
          แผนกตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเปาโลรังสิต




ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่ Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต