น้ำดี (bile or gall) เป็นของเหลวสีเหลือง หรือเขียว มีรสขม สร้างมาจากเซลล์ตับ (hepatocyte) ไหลลำเลียงผ่านทางท่อน้ำดี ซึ่งเป็นท่อขนาดเล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ไปยังจุดพักรอที่ ถุงน้ำดี ก่อนส่งระบายออกไปยังลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อทำหน้าที่ย่อยอาหาร เมื่อใดก็ตามที่ระบบการไหลเวียนของน้ำดีมีปัญหา เช่น อายุมากขึ้น อ้วน น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดการตกตะกอนของน้ำดีจนกลายเป็น “นิ่ว” ในที่สุด
นิ่ว...มาจากไหน ?
นิ่วในถุงน้ำดี เป็นนิ่วที่พบบ่อย โดยเฉพาะในช่วงอายุประมาณ 40-50 ปี นิ่วชนิดนี้เกิดจากการตกตะกอนของเกลือในถุงน้ำดีที่มีความเข้มข้นมากกว่าปกติ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ก็เพียงเล็กน้อย
การตรวจหานิ่ว พบได้ด้วยการอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง
นิ่วสามารถตรวจพบได้ผ่านการอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง โดยมีอาการบ่งชี้ที่สามารถสังเกตได้ คือ อาการปวดท้องตื้อ รุนแรง บริเวณใต้ชายโครงขวานานเป็นชั่วโมง คลื่นไส้อาเจียน แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการปวดนั้นจะทุเลาหายไปได้เอง และการปวดมักกลับมาเป็นซ้ำอีกเมื่อเวลาผ่านไป หากปล่อยให้มีอาการเหล่านี้นานวันโดยไม่ตรวจหาสาเหตุ อาจเกิดอาการแทรกซ้อนตามมา เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในท่อน้ำดี และมะเร็งถุงน้ำดี
นิ่วในท่อน้ำดี คือ อาการแทรกซ้อนที่สำคัญของนิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากนิ่วที่หล่นมาจากถุงน้ำดี หรือเกิดขึ้นได้เองภายในท่อน้ำดี จากสาเหตุการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำๆ ภายในท่อน้ำดี โดยในปัจจุบันพบว่า การเกิดนิ่วในท่อน้ำดีมีมากราว 5-20% ของผู้ป่วยที่เป็นนิ่วถุงน้ำดี และพบความเสี่ยงการเกิดมากขึ้นในผู้สูงอายุ
สังเกตอาการ ระวังเสี่ยงเป็น...โรคนิ่วท่อน้ำดี
นิ่วในท่อน้ำดี มักจะมีอาการที่เด่นชัดกว่า นิ่วถุงน้ำดี คือ
- ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่
- ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา
- ปวดท้องนานต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง ขึ้นไป
- คลื่นไส้อาเจียน
เป็นนิ่วท่อน้ำดี...เสี่ยงโรคแทรกซ้อน
อาการปวดท้องเนื่องจากการเกิดนิ่ว สามารถหายได้เองหากว่านิ่วนั้นมีการหลุดออกไปจากท่อน้ำดี แต่ถึงอย่างไรก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาการดังกล่าว มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ และยังมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา คือ
1. ตับอ่อนอักเสบ
ตับอ่อน จะทำหน้าที่สำคัญในการผลิตเอนไซม์ไว้ย่อยอาหาร ซึ่งท่อตับอ่อนและท่อน้ำดี จะมารวมเจอกันที่บริเวณปลายลำไส้ เพื่อส่งน้ำย่อยมาย่อยอาหารในลำไส้ หากมีการอุดกั้นของนิ่วท่อน้ำดีขึ้น ก็จะส่งผลให้มีการอุดกั้นของท่อตับอ่อนด้วย จึงเป็นสาเหตุทำให้ตับอ่อนอักเสบในที่สุด ซึ่งถือเป็นอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงของ โรคนิ่วในท่อน้ำดี
2. การติดเชื้อในท่อน้ำดี
- ไข้สูง
- หนาวสั่น
- ปัสสาวะสีเข้ม
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
3. ติดเชื้อในกระแสเลือด
4. ตับแข็ง
5. มะเร็งท่อน้ำดี
6. มะเร็งตับ
การตรวจวินิจฉัยค้นหา...นิ่วในร่างกาย
- เจาะเลือด ตรวจการทำงานของตับ
- การตรวจภาพทางรังสี เช่น การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน
- การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า MRI (Magnetic Resonance Imaging)
- ส่องกล้องติดอัลตร้าซาวด์ตรวจทางเดินอาหาร EUS (Endoscopic Ultrasound)
ขั้นตอนการรักษานิ่วท่อน้ำดี
ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาโดยการใช้กล้องส่องเข้าไปทางปากซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการนำนิ่วออกโดยไม่ต้องผ่าตัดนั่นคือการรักษาด้วยวิธี E.R.C.P.(ENDOSCOPICRETROGRADE CHOLANGIOPANCREATOGRAPHY.)
ซึ่งก่อนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้จะพบว่า ผู้ป่วยมักมีอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในท่อน้ำดีร่วมด้วย จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด เมื่ออาการคงที่จึงเริ่มการรักษาด้วยวิธี ERCP ซึ่งมีความสำเร็จในการรักษาสูงถึง 95 %
กรณีพบว่านิ่วมีขนาดใหญ่มาก หรือมีข้อจำกัดทางกายวิภาคของท่อน้ำดี ก็อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ทั้งนี้หลังการรักษาด้วยวิธี E.R.C.P. อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนได้ แต่เมื่อนอนพักฟื้นประมาณ 2 วัน ก็จะหายเป็นปกติ
การป้องกันดูแลสุขภาพ ลดความเสี่ยงของการเกิดนิ่ว
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ลดอาหารมัน เลือกทานไขมันอิ่มตัวแทนไขมันไม่อิ่มตัว
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีกากใยสูง
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรระมัดระวังการลดน้ำหนักไม่มากกว่า 1.5 กิโลกรัม/เดือน
- แนะนำออกกำลังกาย 30 นาที ให้ได้ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยกระตุ้นการเคลื่อนตัวของน้ำดี
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร โทร. 02 1500 900
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset