รับมือ 8 อาการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วง “สตรีวัยทอง”
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
07-ก.ค.-2565
              เมื่อเข้าสู่วัยทองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และอาจเกิดอาการต่างๆ จากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือเพียงระยะเวลาสั้นๆ ในขณะที่บางคนอาจมีอาการรุนแรง กระทั่งรบกวนวิถีชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ ในวัยทองอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้

1. การมาของประจำเดือนเปลี่ยนไป ลักษณะของประจำเดือนในผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยทองจะแตกต่างกันออกไป บางรายประจำเดือนอาจขาดและหายไปเลย ในขณะที่บางรายจะค่อยๆ น้อย และหมดลงถือว่าปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีเลือดออกนานขึ้น (เกิน 7 วัน) หรือออกกระปริดกระปรอยผิดปกติ ต้องตรวจหาสาเหตุให้ละเอียดและต้องคำนึงถึงโรคมะเร็งไว้ก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ใช่สตรีวัยทอง บางรายมักเข้าใจผิดว่าอาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของสตรีในวัยนี้ จึงปล่อยปละละเลยไม่ได้ทำการตรวจให้ละเอียด หรือไปรับประทานยา ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ รวมทั้งสมุนไพรบางชนิดเพื่อขับถ่ายหรือกำจัดของเสียในร่างกาย จนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกผิดปกติ หรือปวดท้องบริเวณท้องน้อย และเมื่อมาพบแพทย์อาการก็ลุกลามไปมากแล้ว

2. ร้อนวูบวาบ และเหงื่อออกในตอนกลางคืน เป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทอัตโนมัติ ได้แก่ มีอาการร้อนวูบวาบ มักเป็นความรู้สึกที่แผ่จากบริเวณหน้าอกขึ้นไปที่ลำคอและใบหน้า มักเกิดร่วมกับอาการเหงื่อออก และตามมาด้วยอาการหนาวสั่น อาการเหล่านี้อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันหากเกิดในตอนกลางคืนอาจรบกวนการนอนหลับ

3. หงุดหงิดง่าย การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลต่ออารมณ์และจิตใจ อาจทำให้มีอาการหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า และซึมเศร้า

4. ช่องคลอดแห้ง ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ในสตรีอาการที่พบคือ ช่องคลอดแห้ง การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อรอบๆ ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะมีการฝ่อลีบ และหย่อนตัว เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หรือหัวเราะ รวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้ง่าย

5. กระดูกพรุนเปราะง่าย โดยปกติร่างกายจะมีการสร้างกระดูกใหม่และสลายกระดูกเก่าอยู่ตลอดเวลา โดยในวัยเด็กและวัยรุ่นการสร้างกระดูกจะเกิดขึ้นมากกว่าสลายกระดูก จากการศึกษาในประเทศไทยพบความหนาแน่นของเนื้อเยื่อกระดูกของสตรีไทยจะสูงสุดที่อายุ 30-34 ปี ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างช้าๆ ประมาณร้อยละ 0.3 - 0.5 ต่อปี หลังอายุ 35 ปี เนื่องจากการสลายกระดูกในลักษณะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 5-10 ปี กระดูกจึงอาจบางลงจนเกิดกระดูกพรุนได้ในวัยนี้ หากไม่มีการป้องกันใดๆ อาจทำให้กระดูกหักได้แม้เพียงได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย สตรีที่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยทั่วไป จะไม่แสดงอาการใดๆ จะปรากฏเมื่อมีกระดูกหักเกิดขึ้นแล้ว โรคกระดูกพรุนจึงถือเป็นภัยเงียบของสตรีวัยทอง

6. อาจมีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ผลต่อไขมันและระบบหลอดเลือด การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลทำให้ระดับไขมัน Cholesterol และไขมันเลว LDL เพิ่มสูงขึ้น ส่วนไขมัน HDL จะลดต่ำลง ทำให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้

7. หลงลืมง่าย เมื่อเข้าสู่วัยทองอาจมีอาการหลงลืมง่าย ความสามารถในการจำชื่อคน หรือข้อมูลสำคัญลดลง โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง และพบเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุถึงร้อยละ 70 โรคนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังอายุ 65 ปี และพบในหญิงมากกว่าชาย เป็นมากในคนที่ไม่ค่อยใช้สมองคิดบ่อยๆ สตรีวัยทองไม่ควรปล่อยสมองให้อยู่นิ่ง ควรมีกิจกรรมให้สมองได้ทำงานบ่อยๆ เช่นการคิดเลข ต่อจิ๊กซอว์ เป็นต้น

8. ภาวะนอนไม่หลับ บางรายอาจรู้สึกนอนไม่หลับเลยจนสว่าง หรือบางรายอาจนอนหลับๆ ตื่นๆ หลายรอบในแต่ละคืน ซึ่งอาการทั้งหมดจะให้ทำสมองไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมอย่างมาก และส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สุขภาพสตรี