โรคเหงือกอักเสบ
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
30-มิ.ย.-2565
อวัยวะในช่องปากที่เรียกว่าเหงือก มีความสำคัญมากไม่แพ้อวัยวะส่วนอื่นใด เพราะเหงือกเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะที่ทำหน้าที่ยึดฟันไว้ในกระดูกขากรรไกร และรองรับแรงในการบดเคี้ยว โดยปกติเหงือกจะมีสีชมพู ขอบเรียบ ไม่บวม ไม่มีเลือดออก แต่ถ้าใครที่มีปัญหาเลือดออกขณะแปรงฟัน นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคเหงือกอักเสบที่เป็นต้นตอหลักของการสูญเสียฟันในอนาคต

สาเหตุ ของโรคเหงือกอักเสบ
          เกิดจากคราบจุลินทรีย์ที่ก่อตัวขึ้นตามรอยต่อระหว่างฟัน และเหงือก ลักษณะเป็นคราบสีขาวขุ่นนุ่ม ที่ประกอบด้วยแบคทีเรีย และคราบอาหารพวกแป้ง และน้ำตาลที่เกาะบนผิวฟัน จากการทำความสะอาดฟันที่ไม่ดีพอ ทำให้คราบเหล่านั้นกลายเป็นอาหารของแบคทีเรียส่งผลให้แบคทีเรียเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้น และเมื่อแบคทีเรียบริโภคอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาลเข้าไป จะปล่อยกรด และสารพิษออกมากระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ผลคือ เป็นโรคเหงือก เหงือกบวมแดงอักเสบ และมีเลือดออก โรคเหงือกในระยะแรกเริ่มนี้ยังสามารถรักษาให้กลับมาอยู่ในสภาวะที่สมบูรณ์เหมือนเดิมได้ เนื่องจากกระดูก และเนื้อเยื่อโดยรอบที่พยุง และโอบรัดฟันยังไม่ได้รับผลกระทบ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น โรคเหงือก?

  • มีเลือดออกขณะแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟัน
  • เหงือกแดง และบวมหรือนุ่ม
  • ฟันดูยาวขึ้น เนื่องจากเหงือกร่นลงไป
  • เหงือกไม่ติดอยู่กับฟัน เหมือนมีร่อง
  • ฟันมีการขยับเขยื้อนเวลาเคี้ยว
  • มีหนองไหลออกมาจากบริเวณร่องเหงือก
  • มีกลิ่นปาก หรือรสชาติแปลกๆ ในปาก

วิธีการรักษาโรคเหงือก

  • การขูดหินปูน Scaling และเกลารากฟัน Root Planing การขูดหินปูนจะทำความสะอาดทั้งส่วนบนตัวฟัน และบนผิวรากฟันภายในร่องเหงือก เป็นการกำจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนเหนือเหงือก และใต้เหงือก ด้วยเครื่องขูดหินปูนไฟฟ้า และเครื่องมือเฉพาะทาง
  • การดูแลอนามัยช่องปากที่ถูกต้องสม่ำเสมอ ได้แก่ การแปรงฟันที่ถูกวิธี และการใช้ไหมขัดฟัน หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน เพื่อป้องกันการสะสมของคราบจุลินทรีย์ และหินปูนเหนือเหงือก และในร่องเหงือก
แม้การรักษาจะเสร็จสิ้นแล้ว หากไม่ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ โรคเหงือกจะกลับเป็นใหม่ได้ง่ายๆ  ดังนั้น หลังจากการรักษาแล้วผู้ป่วยควรได้รับการขูดหินน้ำลาย เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของโรคทุก 3 - 6 เดือน

วิธีการป้องกันโรคเหงือก

  • ทำความสะอาดฟัน และซอกฟันอย่างถูกวิธี และสม่ำเสมอ ด้วยการใช้แปรงสีฟันขนนุ่มหน้าตัดเรียบด้วยวิธีขยับ ปัด และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ พบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อรับการตรวจเช็ค และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ ทันตกรรมและรากเทียมดิจิตอล