วัน | เวลา |
จันทร์ | 08:00 - 12:00 |
อังคาร | 08:00 - 16:00 |
พุธ | 08:00 - 12:00 |
อาทิตย์ | 08:00 - 12:00 |
การศึกษา
พญ.ชฎา อารยางกูร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต และวุฒิบัตรอายุรศาสตร์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยประสบการณ์ในการดูแลรักษาคนไข้มากว่า 30 ปี คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…
“ตอนที่หมอเป็นแพทย์ใช้ทุน เราต้องใช้ความรู้ทั้งหมดที่เรียนมา เพราะว่าคนไข้จะมีความหลากหลายทั้งอาการและโรคที่เป็น ซึ่งกลุ่มคนไข้ที่ต้องดูจะเริ่มตั้งแต่อายุ 15 ขึ้นไปจนถึงคนไข้อายุมากๆ ตอนนั้นหมอคิดว่า หากได้ศึกษาต่อด้านอายุรศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่ให้ความรู้ทั้งเชิงกว้างและลึก ก็น่าจะดูแลรักษาคนไข้ได้ดีขึ้นในหลายๆ โรคพื้นฐาน เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาต่อหมอจึงเลือกเรียนในสาขานี้”
คนไข้อายุรกรรมที่คุณหมอดูแล
ที่โรงพยาบาลเปาโล เกษตร คนไข้ของคุณหมอชฎา ส่วนใหญ่จะเป็นคนไข้ประจำ โดยกลุ่มที่มากที่สุดจะเป็นผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ บางครั้งในการรักษาก็จะมีการร่วมดูแลคนไข้กับแพทย์เฉพาะทางอีกหลายๆ ด้านด้วย อย่างเช่น แพทย์โรคหัวใจ เพราะคนไข้กลุ่มอายุรกรรมนี้มักมีภาวะหลายอย่างที่เป็นโรคร่วม…
“คนไข้ของหมอโดยเฉลี่ย จะเป็นคนไข้ประจำที่รักษากันมานานเป็นสิบๆ ปี เพราะโรคทางอายุรกรรมจะต้องคอยติดตามอาการและให้ยากันอย่างต่อเนื่อง และคนไข้ที่รักษากับหมอก็มักพาคนในครอบครัวมารักษาด้วย เรียกว่าดูแลกันทั้งครอบครัว แล้วถึงแม้หมอจะเป็นอายุรแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะดูแลคนไข้สูงวัย แต่ก็มีรักษาคนไข้อายุน้อยด้วยเหมือนกัน ทั้งที่คุณพ่อคุณแม่คุณปู่คุณย่าพามา หรือเพื่อนฝูงพามา รวมทั้งผู้ป่วยที่มาด้วยตัวเองก็มี”
การตรวจ วินิจฉัย ให้ยา และการทำหัตถการต่างๆ
ขั้นตอนการตรวจของอายุรแพทย์ คุณหมอชฎา จะเริ่มด้วยการซักประวัติและอาการ ทำการตรวจร่างกาย นอกจากนี้ก็อาจจะมีการตรวจเลือดทางแล็บ การทำอัลตร้าซาวด์ เอกซเรย์ ส่งตรวจเฉพาะทาง หรือทำหัตถการอื่นๆ หากตรวจไม่มากและทราบผลเร็วคุณหมอก็จะวินิจฉัยโรคได้ทันที แต่หากตรวจหลายอย่างและต้องรอผล คุณหมอก็จะนัดคนไข้ให้มาฟังผลภายหลัง อาจจะมีการให้ยาในเบื้องต้นตามอาการ และติดตามดูว่าคนไข้อาการดีขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ดีก็จะดูว่าควรตรวจไปแนวทางไหนต่อ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสงสัยและการพยากรณ์โรคจากบริบทต่างๆ
กรณีเมื่อได้ผลตรวจครบถ้วนตามต้องการแล้ว คุณหมอก็จะนำมาประมวลเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร รุนแรงมากน้อยแค่ไหน สามารถรักษาด้วยยาโดยคุณหมอเองได้หรือไม่ หากเป็นโรคที่เฉพาะเจาะจงซึ่งมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทาง คุณหมอก็จะส่งคนไข้ต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆ คุณหมอบอกว่า…
“แผนกอายุรกรรมเป็นเหมือนด่านหน้า ที่อายุรแพทย์จะมีความรู้เรื่องโรคอย่างกว้างขวางแบบครอบจักรวาล จะมีความเชี่ยวชาญในการสืบค้น เพื่อหาสาเหตุและอาการของโรค ซึ่งในบางโรคก็รักษาได้เอง แต่บางโรคก็ต้องส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางเพื่อการรักษาที่ตรงจุดและเหมาะสมกับตัวโรค”
เทคโนโลยีที่ดี ต้องมาพร้อมการดูแลจากแพทย์ที่ดีด้วย
ต้องยอมรับว่า เครื่องมือในการทำหัตถการและการตรวจหาโรคที่ทันสมัยย่อมช่วยให้คุณหมอทำงานได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างการตรวจโรคในอวัยวะต่างๆ เช่น การตรวจหัวใจ ปัจจุบันจะมีการใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และยังมีห้องปฏิบัติการตรวจหัวใจและการฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งจะแสดงผลเป็นภาพบนหน้าจอ ทำให้แพทย์สามารถเห็นได้ชัดเจนและรอบทิศทางตามการปรับมุมมองของภาพทั้งขณะตรวจ และจากการบันทึกเป็นระบบดิจิทัล ซึ่งทำให้แพทย์วินิจฉัยได้รวดเร็วและทำการรักษาได้ทันทีในกรณีฉุกเฉิน อย่างไรก็ตามในทุกขั้นตอนการรักษายังต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญและการดูแลจากแพทย์ผู้ชำนาญการ…
“หมอต้องดูแลคนไข้ให้ดีตามมาตรฐานในหลักวิชา จุดนี้คือสิ่งที่สำคัญสุด อีกส่วนหนึ่งก็คือต้องมีความเสียสละ ดังที่พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยได้กล่าวไว้ว่า ‘ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง แล้วลาภ ทรัพย์และเกียรติยศก็จะตามมาเอง’ ซึ่งหมอก็เห็นเช่นนั้น เพราะสิ่งที่คนไข้ต้องการจากหมอที่สุด อันดับแรกคือการวินิจฉัยที่แม่นยำ อันดับที่สองคือการรักษาที่ดี หมอสนใจเขาไหม พร้อมช่วยเหลือ อธิบาย และให้คำแนะนำในสิ่งที่เขาสงสัยหรือไม่ สิ่งนี้คนไข้จะสัมผัสได้จากเรา และเมื่อเราทำหน้าที่ของเราได้เป็นอย่างดี ช่วยชีวิตคนไข้ได้มาก และช่วยให้เขากลับไปใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ นั่นคือความสุขของทั้งคนไข้และของหมอเอง”