สัญญาณเตือนของภาวะ "ข้อเข่าเสื่อม"
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
05-ก.ค.-2565
title ข้อเข่าเสื่อม เป็นอาการทางกระดูกและข้ออันดับ 1 ของคนไทย มักเกิดในช่วงอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันส่งผลให้เกิดอาการ “ข้อเข้าเสื่อม” ก่อนวัยอันควรมากขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะของข้อเข่าเป็นอวัยวะส่วนที่ถูกใช้งานมากมาโดยตลอดในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง กระโดด ลุก นั่ง อีกทั้ง ข้อเข่ายังต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวเราด้วย และยิ่งต้องรองรับน้ำหนักหรือแรงกดกระแทกมากเท่าไหร่ การเกิดภาวะสึกหรอก็มีมากขึ้นเท่านั้น


เมื่อใดก็ตามที่มีอาการเหล่านี้สงสัยได้ว่าเสี่ยง “ข้อเข่าเสื่อม”

อาการปวดเข่า เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักปวดมากขึ้นเมื่อใช้งาน และลดลงหลังจากการพัก เช่น เดิน ขึ้นลงบันได หรือนั่งพับเข่า อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น

•         ตึงน่อง เมื่อยน่อง เข่าบวม

•         รู้สึกข้อฝืดขณะเคลื่อนไหว บางครั้งรู้สึกเจ็บ

•         เคลื่อนไหวแล้วไม่มั่นคง เหมือนเข่าหลวม

•         มีเสียงเสียดสีจากภายในข้อ แต่ไม่ใช่เสียงดังกรอบแกรบเวลาขยับ (หากเป็นเสียงที่หูได้ยินเวลาขยับ นั่นอาจบอกว่ากล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ข้อเข่าหย่อน ไม่กระชับ)

•         งอเข่า เหยียดข้อได้ไม่สุดเหมือนเคย

         เข่าผิดรูป โก่งออกนอก

เมื่อมีภาวะข้อเสื่อมรุนแรง อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้น มักปวดในช่วงเวลากลางคืน ในบางรายอาจคลำเจอส่วนกระดูกงอกได้บริเวณด้านข้างข้อ หากปล่อยไว้นานจนข้อเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ จะพบว่าเหยียด หรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุด กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าโก่ง ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างยากลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดิน หรือขยับ

พฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้เข่าเสื่อมเร็ว?

การที่เรามีพฤติกรรมเดิมๆ ทำซ้ำๆ ล้วนยิ่งทำร้ายข้อเข่า เช่น นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งยองๆ คลานเข่า คุกเข่า หรือเคยเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ การที่เรามีน้ำหนักตัวมากเกินไปก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เข่าต้องทำหน้าที่รับแรงกดกระแทกจากอิริยาบถในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน หรือนั่ง จะเห็นได้ว่าแพทย์มักแนะนำเรื่องควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์พอดีสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

รู้หรือไม่ว่าการกระโดด ก็เป็นหนึ่งพฤติกรรมที่ทำร้ายข้อเข่า

ในขณะที่ความจริงข้อเข่าสามารถรับแรงอัดกระแทกได้ถึง 7 เท่า แม้การกระโดดจะมีแรงอัดกระแทกประมาณ 3-5 เท่า แต่หากทำซ้ำบ่อยๆ กระดูกส่วนที่ทำหน้าที่รองรับก็จะสึกหรอเร็วขึ้น


มีวิธีการรักษาอย่างไร และสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
?

ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการ และบรรเทาอาการปวดลงได้ สามารถกลับมาใช้ข้อเข่าในแบบภาวะใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งวิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ความรุนแรงของโรค การใช้งานที่คาดหวัง และความพร้อมของผู้ให้การรักษา การรักษามีแนวทางหลัก 2 วิธี

•         การรักษาแบบไม่ผ่าตัด สามารถเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่นหลีกเลี่ยงการยืน หรือเดินเป็นระยะเวลานาน การนั่งงอเข่า เช่น คุกเข่า พับเพียบ ยองๆ ขัดสมาธิ ลดน้ำหนักตัว รวมไปถึงการทำกายภาพบำบัด การใช้ยา การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ ซึ่งเป็นทางเลือกช่วยลดอาการปวดและช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อดีขึ้น เป็นต้น

•         การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด วิธีการนี้จะถูกนำมาใช้ในการรักษาต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ โดยผู้ป่วยที่รับการรักษาไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้แล้ว หรือผลการรักษาวิธีอื่นล้มเหลว โดยที่ผู้ป่วยยังคงมีอาการปวดเข่ารุนแรงจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานได้ปกติ ดังนั้น “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม” จึงเป็นหนทางในการรักษา โดยเป็นการผ่าตัดเอาผิวข้อที่สึกออกไป และทดแทนด้วยผิวข้อเทียม การทำกายภาพหลังจากการผ่าตัด จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมากิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ