ข้อไหล่หลุด
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
10-ส.ค.-2565
      ข้อไหล่หลุด คือ ภาวะที่หัวกระดูกต้นแขนหลุดออกจากเบ้า มากกว่า 90% จะหลุดมาทางด้านหน้า ไหล่หลุดเป็นอาการที่เกิดขึ้นง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ชอบออกกำลังกายที่ใช้แขนเป็นส่วนมาก การออกกำลังกายที่มีการปะทะระหว่างร่างกาย การเกิดอุบัติเหตุ เมื่อข้อไหล่หลุดจะมีอาการปวด ลักษณะหัวไหล่ผิดรูป ขยับแขนไม่ได้ ชาจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทข้อไหล่หลุด
      ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น แขนถูกกระชากหรือกระแทก การตกจากที่สูงหรือหัวไหล่อยู่ในท่ากางไหล่ และหมุนไหล่ออกอย่างรุนแรง ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นจากโรคอื่น ๆ เมื่อเกิดข้อไหล่หลุดต้องได้รับการรักษาทันที การปฐมพยาบาลและการรักษาโดยแพทย์ทำได้ดังนี้
  • จัดข้อไหล่ให้อยู่นิ่ง ๆ ในท่าที่เป็นอยู่
  • ใช้มืออีกข้างช่วยประคอง ประคบด้วยน้ำแข็ง เพื่อให้เลือดออกน้อยที่สุด แล้วรีบมาพบแพทย์ให้จัดการรักษาโดยทันที
  • การรักษาโดยแพทย์จะรักษาข้อไหล่หลุดด้วยการให้ยาระงับปวด ดึงข้อไหล่ให้เข้าที่ ยึดตรึงข้อไหล่ด้วยผ้าคล้องแขนประมาณ 2 -3 สัปดาห์ จากนั้นจะทำกายภาพบำบัด และบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อไหล่ เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ปกติ


ข้อควรระวังเมื่อเกิดเหตุ

      ผู้ใกล้มักจะช่วยดึงข้อไหล่ให้กลับเข้าที่เอง ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียกับผู้ป่วย เนื่องจากภาวะข้อไหล่หลุดอาจเกิดร่วมกับกระดูกหัก หรือการบาดเจ็บของเส้นเลือดและเส้นประสาท จำเป็นต้องตรวจอย่างละเอียดก่อนทำการรักษา ดังนั้นควรส่งผู้ป่วยที่สงสัยว่าข้อไหล่หลุดมาพบแพทย์ทันที อย่ารักษาด้วยตนเอง

กลุ่มคนไข้ที่มีโอกาสไหล่หลุด

      ได้แก่ ผู้ที่ชอบเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ ได้แก่ ฟุตบอล รักบี้ หรือนักกีฬาที่ต้องยกแขนเหนือศีรษะ เช่น นักเทนนิส นักว่ายน้ำ นักยิมนาสติก 
การหลุดซ้ำ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการบาดเจ็บที่รุนแรงจนโครงสร้างข้อไหล่ไม่มั่นคง เส้นเอ็นภายในหัวไหล่มีการฉีกขาด สำหรับผู้ที่ข้อไหล่หลุดซ้ำบ่อย ๆ จนรบกวนชีวิตประจำวัน การรักษาคือการบริหารกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ให้แข็งแรงขึ้น ถ้าหัวไหล่ยังหลุดอยู่จำเป็นต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะซ่อมแซมเส้นเอ็นที่ฉีกขาดให้ยึดติดกับกระดูกดังเดิมอ่อน เยื่อหุ้มข้อ หรือ เสริมกระดูกส่วนที่แตก เพื่อป้องกันการหลุดซ้ำ ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แผลผ่าตัดเล็ก บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ กระดูกและข้อ