ยกเวท ยกของหนัก อาจทำให้เอ็นไหล่ฉีกขาด
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
26-เม.ย.-2567

ยกเวท ยกของหนัก อาจทำให้เอ็นไหล่ฉีกขาด

เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด
เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tears/Rotator Cuff Injury) เป็นการบาดเจ็บของเส้นเอ็นหัวไหล่ ซึ่งเป็นกลุ่มของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อบริเวณไหล่  ซึ่งมักจะเกิดจากการใช้งานที่มากจนเกินไป จนทำให้ได้รับบาดเจ็บและอักเสบ นอกจากจะทำให้เกิดความเจ็บปวดแล้ว การบาดเจ็บยังทำให้เกิดอาการอ่อนแรงและมักจะรุนแรงขึ้นเมื่อมีการพยายามออกแรงยกแขนขึ้น

อาการเมื่อเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด
การที่เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดทำให้เกิดอาการเจ็บซึ่งอาจนำไปสู่อาการและภาวะอื่นได้
 มีอาการปวดบริเวณไหล่ ไหล่ติดยกแขนได้ไม่สุด เอื้อมแขนไปด้านหลังไม่ได้
 มีอาการปวดเวลากลางคืน โดยเฉพาะตอนนอนตะแคงทับ
 มีอาการปวดเวลายกแขนขึ้นหรือลง
 มีอาการอ่อนแรงในขณะยกหัวไหล่
แนะนำให้รีบพบแพทย์ทันทีหากมีอาการแขนอ่อนแรงอย่างกะทันหันหลังจากที่ได้รับการบาดเจ็บ หรือมีอาการปวดบริเวณด้านข้างหัวไหล่หลังจากได้รับบาดเจ็บ

สาเหตุเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด
1. เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น หกล้มขณะที่แขนเหยียดไปเท้ากับพื้น หรือไหล่แขนกระแทกแล้วมีการหดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอย่างรุนแรง
2. จากความเสื่อมของเส้นเอ็น Degeneration ซึ่งกลุ่มนี้สามารถพบได้บ่อยกว่า เกิดจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน ๆ และอายุที่มากขึ้น และปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เป็นได้มากขึ้น คือ
     2.1 Repetitive trauma การใช้งานที่สะสมมาเป็นเวลานาน ๆ การใช้งานหนักหรือกลุ่มนักกีฬาที่ต้องใช้ไหล่ เช่น นักเบสบอล นักกีฬายกน้ำหนัก ช่างก่อสร้าง เป็นต้น
     2.2  Lack of Blood Supply จะมีบางบริเวณของเส้นเอ็นหัวไหล่ที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อยกว่าบริเวณอื่น ทำให้เมื่อมีการฉีกขาดการสมานตัวของเส้นเอ็นจึงเกิดขึ้นเองได้ยากกว่า
     2.3 เกิดกระดูกงอกในข้อไหล่ Bone Spur โดยจะเกิดขึ้นบริเวณใต้กระดูกส่วนบนของข้อไหล่ Acromion ซึ่งจะทำให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างกระดูกที่ยื่นออกมาและเส้นเอ็น Rotator Cuff ทำให้มีการฉีกขาดตามมา ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ Impingement Syndrome



การตรวจวินิจฉัย
การซักประวัติและตรวจร่างกาย
 การเอกซเรย์ เพื่อให้เห็นภาพของกระดูกและส่วนอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการปวด
 อัลตราซาวด์ เพื่อดูภาพของเนื้อเยื่ออ่อน เช่น กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นระหว่างการเคลื่อนไหว
 MRI เพื่อแสดงภาพรายละเอียดของโครงสร้างทั้งหมดในบริเวณไหล่

การรักษา
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

1. การฉีดยา คือการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดที่อาจรบกวนการนอนหลับและการใช้ชีวิตประจำวัน
2. การกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้กับไหล่ ซึ่งการกายภาพบำบัดอาจเป็นกระบวนการที่ใช้สำหรับการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดด้วย

การรักษาแบบผ่าตัด
กรณีการรักษาแบบผ่าตัดส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดจากอุบัติเหตุ เพื่อนำเส้นเอ็นที่ฉีกขาดเชื่อมติดเข้ากับกระดูก ซึ่งทางเลือกของการผ่าตัดรักษามีหลายแบบ ตามแต่ข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้
 การเย็บซ่อมเส้นเอ็นหัวไหล่ มีทั้งแบบส่องกล้องและแบบเปิดผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็น
 การเปลี่ยนข้อไหล่เทียม
 การย้ายเส้นเอ็น


        อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยเวชศาสตร์การกีฬาไม่ได้เริ่มต้นจากการผ่าตัดเสมอไป เมื่อมีอาการแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยประเมินร่างกาย ทดสอบการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ควบคู่กับผลเอกซเรย์ การ MRI ก่อนที่จะแบ่งระดับการรักษาออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่ให้พักการใช้ไหล่และแขน ร่วมกับการรับประทานยาหรือฉีดยา ในบางกรณีอาจมีการทำกายภาพ เพื่อให้หัวไหล่ขยับได้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากเป็นระดับที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและไม่สามารถใช้งานหัวไหล่ได้ หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องพิจารณาผ่าตัดรักษา ซึ่งปัจจุบัน โรงพยาบาลเปาโล เกษตร ให้บริการผ่าตัดส่องกล้องเส้นเอ็นข้อไหล่ ที่ช่วยลดขนาดแผล ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบๆข้อไหล่ ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังการผ่าตัดที่น้อยลงกว่าการผ่าตัดแบบปกติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็วขึ้น



บทความสุขภาพ
➮ เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีก หากไม่รีบรักษา เสี่ยงข้อเข่าเสื่อมในอนาคต 
➮ เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด...เรื่องบาดเจ็บของนักกีฬา 
➮ อุบัติเหตุ กระดูกไหปลาร้าหัก 
➮ ระมัดระวังอุบัติเหตุ หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะกระดูกหัก 



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset