ซีสต์ที่เต้านม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
25-มี.ค.-2564
ซีสต์ที่เต้านม หรือ ถุงน้ำในเต้านม เป็นสิ่งผิดปกติในเต้านม ที่พบได้บ่อยเกิดจากภาวะที่น้ำขังอยู่ในเนื้อเต้านม อยู่กันเป็นหย่อมๆ ทำให้เวลาตรวจดูจะพบเป็นถุงน้ำ หรือเมื่อคลำจากภายนอกก็ได้เป็นก้อนในเนื้อ เล็กบ้างใหญ่บ้างแล้วแต่ละรายไป

สาเหตุเกิดจากอะไร
       สาเหตุที่แท้จริง ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ อาจเกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงต่อมเต้านมในร่างกาย มีน้ำเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเต้านม รวมตัวเป็นถุงน้ำ สิ่งเหล่านี้มีการควบคุมโดยฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมน “เอสโตรเจน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเต้านม และในที่สุดก็เป็นซีสต์ มักพบว่าซีสต์จะโตขึ้น และพบได้บ่อยขึ้นในช่วงที่ประจำเดือนใกล้จะมา และซีสต์จะเล็กลง เมื่อประจำเดือนมาแล้ว

ลักษณะอาการเป็นอย่างไร

        คลำได้ก้อนที่หน้าอก เป็นก้อนที่ค่อนข้างเรียบกลม และกลิ้งไปมาได้ มีอาการเจ็บบริเวณที่มีก้อน ก้อนที่คลำได้จะมีขนาดใหญ่ขึ้น และตึงขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือน และจะเล็กลงหลังหมดประจำเดือน ซีสต์แบบธรรมดา (Simple Cyst) ไม่ได้เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม จึงไม่ต้องเป็นกังวล แต่หากคลำหน้าอกตรวจด้วยตนเองแล้วพบว่ามีก้อนใหม่เกิดขึ้น หรือก้อนที่เคยพบอยู่เดิมมีขนาดใหญ่ขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจ

การตรวจโดย

  • การตรวจคลำเต้านมโดยแพทย์  วิธีนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าก้อนที่ตรวจพบนั้นเป็นก้อนเนื้อ หรือถุงน้ำ จึงควรจะต้องทำการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อยืนยันเพิ่มเติม
  • การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม วิธีการนี้ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่าก้อนที่ตรวจพบเป็นก้อนเนื้อ หรือถุงน้ำ
  • การเจาะดูดของเหลวด้วยเข็ม (Fine-needle aspiration) เป็นการตรวจที่แพทย์จะทำการเจาะดูดของเหลวออกจากในก้อนถุงน้ำ ถ้าของเหลวที่ดูดออกมาไม่มีเลือดปนก็ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจอย่างอื่นต่อ

3 คำถามยอดฮิต

Q: ถุงน้ำที่เกิดขึ้นที่เต้านม มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งหรือไม่?
A: ถุงน้ำของเต้านม หรือซีสต์ถ้าเป็นซีสต์ธรรมดา หมายถึงถุงที่ภายในมีน้ำ โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่กลายเป็นมะเร็ง ถ้าไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องจัดการ
Q: อายุขึ้นเลข 4 มีความเสี่ยงสูง จริงหรือไม่?
A: สาเหตุที่เกิดซีสต์ยังไม่ทราบชัดเจน แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมีส่วนทำให้เกิดซีสต์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอายุ 40 ปีขึ้นไปโอกาสเกิดซีสต์จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งจำนวน และขนาด และจะลดลงทั้งจำนวน และขนาดจนหายไปหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้วหลายปี

Q: เมื่อเป็นซีสต์แล้วจำเป็นต้องรักษาหรือไม่?
A: ซีสต์อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บได้ แต่ถ้าไม่เจ็บ ไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร หากเป็นซีสต์ที่มีอาการ และก้อนใหญ่ เช่น เจ็บที่เต้านมก็มักจะเจาะดูดเอาน้ำด้านในออกอาการก็จะดีขึ้น หลังจากเจาะเอาน้ำออกแล้วประมาณ 50% จะหายไปเลยไม่เป็นขึ้นมาอีก แต่อีก 50% ก็มีโอกาสที่ซีสต์จะกลับขึ้นมาใหม่ ถ้ายังมีอาการอยู่การเจาะเอาน้ำออกอาจทำได้อีก 1-2 ครั้ง ถ้ายังเจ็บอยู่ หรือมีก้อนขึ้นอยู่เรื่อยๆ หรือกังวล โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเอาออก อย่างไรก็ดีมีซีสต์อีกประเภทหนึ่งซึ่งเราเรียกว่า Complicated Cyst หรือ Complex Cyst หมายถึง ซีสต์ที่เป็นถุง นอกจากจะมีน้ำแล้วยังมีเนื้ออยู่ข้างใน ซีสต์เหล่านี้จำเป็นต้องได้เนื้อมาตรวจให้ชัดเจนว่ามีสาเหตุจากมะเร็งหรือไม่

 ** หากพบว่ามีเลือดปน จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม กรณีที่ดูดของเหลวไม่ออก หรือก้อนไม่ยุบลงแสดงว่ามีส่วนที่เป็นเนื้อปนอยู่ด้วย จะต้องทำการส่งตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็งต่อไป **


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 0-2271-7000 ต่อ ศัลยกรรม