บริหารกล้ามเนื้อ หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
04-เม.ย.-2565
title การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก เป็นวิธีการรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกข้อสะโพกหัก ข้อสะโพกเสื่อม หรือการที่หัวข้อสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้เกิดความเจ็บปวด และการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกที่ผิดปกติ หรือไม่สามารถเดินได้เลยให้หายเจ็บปวด และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงภาวะปกติตามความสามารถของผู้ป่วยแต่ละราย

สาเหตุหลัก และอาการของผู้ป่วยที่ควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก

  • ข้อสะโพกหัก ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ มักมีสาเหตุจากการหกล้ม หลังหกล้มแล้วมีอาการปวดสะโพกอย่างมาก ไม่สามารถเคลื่อนไหว หรือยืน เดินได้
  • ข้อสะโพกเสื่อมในระยะท้าย และผู้ที่กระดูกหัวข้อสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการปวด บวม ข้อสะโพกเวลาเคลื่อนไหว มีอาการเจ็บสะโพกได้มากเวลาเดินลงน้ำหนัก มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี


หลังการผ่าตัดข้อสะโพกจะมีข้อห้าม และข้อควรระวังในระยะ 3 เดือนแรก ดังนี้

  • ห้ามนอนตะแคงตัวทับข้างที่ผ่าตัด
  • การนอนตะแคง (ทับข้างดี) ต้องมีหมอนวางรองขาข้างที่ผ่าตัดไว้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันข้อสะโพกหุบลง
  • ห้ามทำท่าที่ข้อสะโพกงอเกิน 90 องศา หุบขา และหมุนขาเข้าใน เช่น ท่านั่งไขว่ห้าง การนั่งเก้าอี้เตี้ย การนั่งพับเพียบ การนั่งขัดสมาธิ การก้มตัวหยิบของด้านหน้า เป็นต้น
การออกกำลังกายข้อสะโพกหลังการผ่าตัด
การออกกำลังกายกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อสะโพก และกล้ามเนื้อขาเป็นสิ่งสำคัญมากในผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดข้อสะโพก ผู้ป่วยควรออกกำลังกายท่าละ 10 - 20 ครั้งต่อรอบ อย่างน้อย 3 รอบต่อวัน ควรทำต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อเป็นการเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว และเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อของข้อสะโพก และขา


ท่าบริหารที่ 1 Pumping Exercise ออกกำลังข้อเท้า โดยใช้หมอนสูงพอควรหนุนใต้เข่า กระดก ข้อเท้าขึ้น – ลง 30 ครั้ง


ท่าบริหารที่ 2 กล้ามเนื้อเหยียดสะโพก และต้นขาด้านหน้า นอนหงายขาทั้งสองวางราบกับพื้นโดยมีผ้าเล็กๆ รองใต้เข่า ออกแรงกดเข่าข้างที่ต้องการออกกำลังกายลง ให้รู้สึกว่าหลังเข่าสัมผัสกับผ้ารองมากที่สุด เกร็งค้างไว้ 10 วินาที


ท่าบริหารที่ 3 กล้ามเนื้องอข้อสะโพก และงอเข่า นอนท่าเริ่มต้นเหมือนกับท่าที่ 1 งอเข่า งอสะโพก ลากส้นเท้าเข้าหาสะโพก ให้ส้นเท้าลอยพ้นพื้นเล็กน้อยไป – กลับ ระวังห้ามงอข้อสะโพกเกิน 90 องศา


ท่าบริหารที่ 4 กล้ามเนื้องอสะโพก และกล้ามเนื้อเหยียดเข่า นอนหงายขาข้างหนึ่งชันเข่า ฝ่าเท้าแนบกับพื้น ส่วนขาที่ต้องการออกกำลังกายให้เข่าเหยียดตรง ยกขาขึ้นด้านบน แล้วกลับวางลงกับพื้นดังเดิม


ท่าบริหารที่ 5 กล้ามเนื้อกางข้อสะโพก นอนหงายเท้าสองข้างวางราบกับพื้น กางขาออกด้านข้างให้ขาขนานกับพื้น และลอยพ้นพื้นเล็กน้อย
ท่าบริหารที่ 6 นอนตะแคงขาข้างที่ผ่าอยู่ด้านบน หมอนสอดระหว่างขาทั้งสองข้าง ยกขาด้านบนขึ้นพ้นพื้นในแนวดิ่ง ท่านี้ควรทำหลังผ่าตัดแล้วอย่างน้อย 2 เดือน และเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 60 ปี


ท่าบริหารที่ 7 กล้ามเนื้อเหยียดเข่า ใช้หมอนสูงพอควรหนุนใต้เข่า เข่าจะอยู่ในท่างอ เหยียดเข่า ยกเท้าพ้นพื้น ปลายเท้าชี้ขึ้นด้านบน


ท่าบริหารที่ 8 กล้ามเนื้องอเข่า นอนคว่ำ ขาทั้งสองวางราบกับพื้น งอเข่ายกเท้าพ้นพื้น 20 ครั้ง ท่านี้ควรทำหลังผ่าตัดแล้ว 1 เดือน และเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุไม่เกิน 50 ปี





สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ