ปวดศีรษะแบบไหนเข้าข่าย “อันตราย” ต้องรีบปรึกษาแพทย์
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
16-ต.ค.-2564
     ปวดศีรษะ..แค่ทานยาเดี๋ยวก็ดีขึ้น! นี่คือความเชื่อเกี่ยวกับอาการปวดศีรษะที่เราพบเห็นได้บ่อยๆ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า อาการปวดศีรษะที่ใครๆ ก็เคยเป็นและคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ อาจเป็นสัญญาณเตือนจากโรคทางสมอง หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ก็ส่งผลอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

“ปวดศีรษะ” แบบไหน คือสัญญาณร้ายที่ควรรีบไปพบแพทย์
• อาการปวดศีรษะที่มักเริ่มต้นหลังตื่นนอน เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะความดันสมองสูงผิดปกติ
• อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นทันทีทันใด และมีความรุนแรงมากจนทำให้สะดุ้งตื่น
• อาการปวดศีรษะที่บ่อยครั้งเกินไป หรือมากกว่า 1 ครั้งใน 1 สัปดาห์ และปวดต่อเนื่องเป็นเดือน อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท
• อาการปวดศีรษะรุนแรง และมักมีอาการคอแข็งร่วมด้วย อาจเกิดจากการติดเชื้อในระบบประสาท
• อาการปวดศีรษะที่ส่งผลให้มีอาการแขนขาอ่อนแรง การมองเห็นหรือการได้ยินผิดปกติได้จากเดิม
• อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นแบบรุนแรงและเฉียบพลัน เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง
• อาการปวดศีรษะที่มีอาการปวดตาร่วมด้วย และมีอาการตาแดงตามมา
• อาการปวดศีรษะครั้งแรกหลังอายุ 50 ปี
• อาการปวดศีรษะที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
• อาการปวดศีรษะที่สัมพันธ์กันกับการเปลี่ยนท่าทาง เช่น ปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะและคอ
• อาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากขึ้นเมื่อไอจามหรือออกแรงเบ่ง
• อาการปวดศีรษะที่มีลักษณะปวดข้างเดียวตลอดเวลา
• อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นหลังศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน

ตรวจให้รู้ชัด...อาการปวดศีรษะที่เป็นไม่ใช่โรคร้ายแรง

     เพราะอาการปวดศีรษะนั้นมีมากกว่า 300 ประเภท การที่เราจะรู้ได้ว่าอาการปวดศีรษะที่เป็นอยู่จะเป็นเพียงอาการปวดธรรมดาทั่วไป หรือซ่อนไว้ด้วยก้อนเนื้อ การตรวจเพิ่มเติมต่างๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แพทย์อาจทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายในเบื้องต้น หรือหากพบสัญญาณความผิดปกติ ก็อาจตรวจเพิ่มเติม เช่น MRI (ตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า), CT Scan (ตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์) หรือ EEG (ตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง)

     แม้ว่าอาการปวดศีรษะจะเป็นเรื่องที่พบเจอได้บ่อย และในบางกรณีก็อาจไม่ร้ายแรง แค่ทานยาบรรเทาปวดก็ดีขึ้นได้ แต่หากเมื่อไหร่ที่มีสัญญาณผิดปกติตามที่กล่าวมา หรือมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังติดต่อกันนานหลายวัน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและเริ่มต้นรักษาให้ตรงตามสาเหตุ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ โรคระบบประสาทและสมอง