หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
16-ก.ค.-2564
title โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute Otitis Media)
เป็นอาการอักเสบของหูชั้นกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างหูชั้นนอก และหูชั้นใน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ
ทุกอายุ หูชั้นกลางอักเสบพบได้บ่อยในเด็ก เนื่องจากภูมิต้านทานยังน้อยและยังเจริญไม่เต็มที่ ที่สำคัญโรคนี้มักเกิดร่วมกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเด็กๆ มักมีอุบัติการณ์ของโรคเหล่านี้สูง ไม่ว่าจะเป็น
โรคเยื่อบุจมูกอักเสบเฉียบพลัน (Acute Rhinitis)   
โรคหวัด (Common Cold)
โรคไซนัสอักเสบ (Rhinosinusitis)
โรคต่อมอะดีนอยด์อักเสบ (Adenoiditis)

อวัยวะของ เด็กเล็ก ท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube) มักจะอยู่ในแนวขนานกับแนวราบ (ทำมุมกับแนวราบเพียงเล็กน้อย) ต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งท่อยูสเตเชียนจะทำมุมกับแนวราบมากกว่า และท่อยูสเตเชียน ของเด็กยังสั้นกว่าของผู้ใหญ่ ทำให้เชื้อโรคจากจมูกและโพรงหลังจมูกเข้าสู่หูชั้นกลางของเด็กได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ จึงพบโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ อีกทั้งการสั่งน้ำมูกแรงๆ การดำน้ำการว่ายน้ำขณะที่มีการอักเสบในโพรงจมูก หรือโพรงหลังจมูก จะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในหูชั้นกลางง่ายขึ้น โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันนี้ถ้ายังไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจกลายเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หรือ หูน้ำหนวก (Chronic Otitis Media) ต่อไป ซึ่งมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ เช่น มีน้ำขังในหูชั้นกลาง (Otitis Media with Effusion) หรือ แก้วหูทะลุ (Tympanic Membrane Perforation) รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อน เช่น
โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบเฉียบพลัน (Acute Mastoiditis)
หูชั้นในอักเสบ (Acute Labyrinthitis)
ฝีหลังหู (Subperiosteal Abscess)
อัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าเนื่องจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 มีการอักเสบ (Facial Nerve Paralysis)
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
ฝีในสมอง (Brain Abscess)

อาการที่พบบ่อย

  • ปวดหูข้างที่เป็น อาจรู้สึกแน่นๆ ภายในหู หรือมีเสียงดังในหู
  • มีไข้สูง ในเด็กเล็กอาจร้องไม่หยุด โดยเฉพาะเวลากลางคืน กระวนกระวาย และอาจดึงใบหูข้างที่ปวด
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และชักได้
  • หูอื้อ ระดับการได้ยินลดลง
โดยอาการดังกล่าวมักจะมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อนอาการปวดหู มีไข้ และหูอื้อจะลดลงหลังจากเยื่อแก้วหูทะลุ และมีหนองไหลออกมาแล้ว

สามารถป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบได้อย่างไร?

  • ไม่แคะ ปั่น เขี่ย เช็ดขี้หู หรือทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆ ก็ตาม เพราะอาจก่ออันตรายทำให้แก้วหูฉีกขาด และ/ หรือมีการติดเชื้อ (บวมแดง และมีหนอง) ในหูชั้นกลางได้
  • ไม่ควรล้างหูด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ หรือซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง
  • ไม่ไอ แบบปิดปากแน่น หรือสั่งน้ำมูก จาม แบบปิดจมูกแน่น
  • เมื่อมีอาการน่าสงสัย หรือเป็นหวัดยาวนาน ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก
นอกจากนี้ การระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน เช่น โรคหวัด โรคไซนัสอักเสบ โดยหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำลง เช่น เครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ และหมั่นออกกำลังกาย นับว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้

วิธีการรักษา

1. รักษาทางยา
  • รับประทานยาต้านจุลชีพ (Antibiotic) เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ ควรรับประทานเป็นระยะเวลา อย่างน้อย 10 – 14 วัน
  • รับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) ยาลดบวม ยาหดหลอดเลือด (Oral Decongestant) และพ่นจมูกด้วยยาหดหลอดเลือด (Topical Decongestant) เพื่อให้เยื่อบุบริเวณรูเปิดของท่อยูสเตเชียนยุบบวม ทำให้ท่อเปิดได้กว้างขึ้น สารจากการอักเสบ หรือหนองที่อยู่ในหูชั้นกลาง สามารถระบายออกจากท่อยูสเตเชียนนี้ได้สะดวกขึ้น
  • รับประทานยาแก้ปวด หรือลดไข้เท่าที่จำเป็น
2. รักษาโดยการผ่าตัด
  • การเจาะเยื่อแก้วหู (Myringotomy) เพื่อระบายหนองในหูชั้นกลางออก ช่วยลดอาการปวดหูลงได้มาก มักทำในรายที่ให้ยาเต็มที่แล้ว และอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น เช่นยังคงปวดมาก มีไข้สูง หรือ ต้องการหนองไปย้อมเชื้อ หรือเพาะเชื้อเพื่อหาชนิดของเชื้อก่อโรค ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบเฉียบพลัน ฝีหลังหู เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง อัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าเนื่องจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 มีการอักเสบ โดยหลังผ่าตัดเยื่อแก้วหูจะปิดได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
  • การผ่าตัดโพรงกระดูกมาสตอยด์ (Mastoidectomy) มักทำในกรณีที่มีการอักเสบของโพรงกระดูกมาสตอยด์ มีหนองขังอยู่ภายในโพรงกระดูกมาสตอยด์ และไม่มีทางออก โดยเป็นการผ่าตัดบริเวณหลังหูเข้าสู่โพรงกระดูกมาสตอยด์ และนำหนอง หรือการอักเสบที่อยู่ภายในออก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร.0-2271-7000 ต่อ หู คอ จมูก