Q: การผ่าตัดมดลูกคืออะไร?
A: การผ่าตัดมดลูก คือ การผ่าตัดเพื่อเอามดลูกออกจากร่างกายแต่ไม่ได้รวมถึงการตัดรังไข่ออกด้วย ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่มีประจำเดือน และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก
Q: ตัดมดลูกแล้วจะทำให้เป็นวัยทองจริงหรือ?
A: การตัดมดลูกไม่จำเป็นต้องตัดรังไข่ออกทุกราย หากยังมีรังไข่อยู่ก็มีฮอร์โมนหล่อเลี้ยงร่างกาย สุขภาพยังคงมีความแข็งแรง และเข้าสู่วัยทองตามวัย คือ ประมาณอายุ 50 ปีขึ้นไป
Q: การผ่าตัดมดลูกส่งผลให้เซ็กซ์เสื่อมหรือไม่?
A: การตัดมดลูกมีโอกาสที่ทำให้อารมณ์ทางเพศลดลงได้ในบางกลุ่ม แต่ไม่ได้มากอย่างที่คุณผู้หญิงวิตกกังวล ปัญหาความรู้สึกทางเพศไม่ได้ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนอย่างเดียวแต่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ส่วนใหญ่คุณผู้หญิงมักคิดล่วงหน้าว่าจะไม่มีอารมณ์ทางเพศหรือมีอาการอื่นๆ ซึ่งนั่นส่งผลต่อสภาพจิตใจ เกิดความกังวล ความทุกข์ ความเครียด บางรายอาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตามการผ่าตัดมดลูกอาจมีปัญหาในเพศสัมพันธ์เพราะช่องคลอดจะสั้นลง แต่ช่องคลอดเป็นอวัยวะที่ยืดได้ระหว่างมีเพศสัมพันธ์จึงไม่ได้มีผลกระทบกับเรื่องทางเพศมากนัก
Q: สามารถมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัดมดลูก ได้หรือไม่
A: การมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัดอาจเป็นสาเหตุของการมีเลือดออกทางช่องคลอดจากแผลผ่าตัดที่ช่วงบนของช่องคลอด แต่หลังจากตรวจหลังผ่าตัดประมาณ 6 สัปดาห์ และหลังจากเลือดหรือสิ่งคัดหลั่งจากช่องคลอดหยุดแล้วสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
Q: อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ถึงขั้นต้องผ่าตัดมดลูก?
A:สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเนื้องอกของมดลูกที่มีขนาดใหญ่หรือโตเร็วกว่าปกติ และอาจกลายเป็นมะเร็ง จึงจำเป็นต้องตัดเนื้องอกมดลูก หรือตัดมดลูกทิ้งไป การผ่าตัดมดลูกมีจุดประสงค์เพื่อรักษาอาการและภาวะดังต่อไปนี้
• อาการเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ซึ่งไม่สามารถจัดการได้ด้วยวิธีอื่นๆ
• เนื้องอกมดลูก
• ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ซึ่งมีอาการร้ายแรง
• พังผืดในมดลูก
• อาการเจ็บในอุ้งเชิงกรานซึ่งเกี่ยวข้องกับมดลูก และไม่สามารถจัดการได้โดยวิธีอื่นๆ
• ภาวะมดลูกหย่อน เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้ หรือถ่ายอุจจาระลำบาก
• มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งที่เกี่ยวกับมดลูก
• ความผิดปกติขณะคลอด (อาทิ ภาวะเลือดไหลไม่หยุด)
• เนื้องอกของมดลูกขนาดใหญ่ หรือจำนวนมากจนกล้ามเนื้อมดลูกเสียไป ไม่สามารถผ่าตัดตกแต่ง ซ่อมแซมได้
Q: วิธีการผ่าตัดมดลูกมีกี่วิธี?
A: มีหลายวิธีแต่แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ
Q: การผ่าตัดผ่านกล้อง Laparoscopic Surgery ทำอย่างไร?
A: แพทย์จะใช้เครื่องมือเจาะผ่านผนังหน้าท้องบริเวณข้างสะดือเข้าไป เพื่อสอดกล้องเข้าไปให้เห็นภาพภายในช่องท้อง และจะเจาะหน้าท้องอีก 2 รูเพื่อใส่เครื่องมือ และตัดเนื้อเยื่อด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ เมื่อตัดก้อนเนื้องอกออกมาได้แล้วก็จะใช้เครื่องมือย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำออกมาภายนอกร่างกายผ่านรูแผลเล็กๆ
Q: การผ่าตัดผ่านกล้องมีอันตรายหรือไม่?
A: การผ่าตัดผ่านกล้อง แผลจะมีขนาดเล็ก การพักฟื้นในโรงพยาบาลจึงสั้นเพียง 1 - 2 วัน เมื่อแผลมีขนาดเล็ก ความเจ็บปวดจากบาดแผลก็น้อยลงด้วย ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการผ่าตัดผ่านกล้องที่พบได้ คือมีโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บของอวัยวะใกล้เคียง เช่น ลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะ อย่างไรก็ตามความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ในการผ่าตัดผ่านกล้องที่มีประสบการณ์ ก็จะยิ่งมีความปลอดภัยสูงขึ้น
Q: การป้องกันตนเองจากเนื้องอกมดลูก?
A: การเกิดเนื้องอกมดลูกยังไม่มีหลักฐานระบุสาเหตุแน่ชัด ดังนั้น จึงไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย แต่การใส่ใจสุขภาพ บริโภคอาหารที่สะอาดปลอดสารพิษ หลีกเลี่ยงมลพิษ ตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะการตรวจภายในของผู้หญิงวัย 25 ปีขึ้นไป จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอก และมะเร็งลงได้
Q: การมีเลือดออกทางช่องคลอดภายหลังการผ่าตัดมดลูกมาแล้วจะเป็นอันตรายหรือไม่?
A: ภายหลังการผ่าตัดมดลูกโดยปกติแล้วจะมีเลือดออกกะปริบกะปรอยได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องวิตกกังวลไป โดยเริ่มตั้งแต่หลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ ในระยะ 2 - 3 วันแรก เลือดที่ออกมักจะสีแดงคล้ำ สลับกับสีแดงสดได้ อย่างไรก็ตามหากไม่มีเลือดออกเลยก็นับว่าดีที่สุด สาเหตุของการมีเลือดออกทางช่องคลอดภายหลังการผ่าตัดมดลูกที่นอกเหนือจากกรณีดังกล่าวที่อาจจะพบได้เป็นเวลานานกว่าปกติ ได้แก่
• มีเนื้อเยื่อที่ถูกสร้างมาซ่อมแซมแผลยื่นออกมาระหว่างรอยแผล
• ส่วนปลายของท่อนำไข่โผล่ออกมานอกแผล
• มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เกิดขึ้นบริเวณด้านในสุดของช่องคลอด
ในกรณีที่มีเลือดออกผิดปกติภายหลังการผ่าตัดเป็นระยะเวลานานๆ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามดูอาการต่อไป