ท้องนอกมดลูก
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
31-มี.ค.-2564

ท้องนอกมดลูกคืออะไร?
             ตั้งครรภ์ หรือท้องนอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ
โดยตัวอ่อนไม่ได้ฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูกแต่ไปฝังตัวในตำแหน่งที่ผิดปกตินอกโพรงมดลูก พอมีการเจริญเติบโตขยายขนาดของตัวอ่อน อวัยวะไม่สามารถขยายตัวรองรับขนาดของตัวอ่อนที่ใหญ่ขึ้นได้ โดยส่วนมากพบที่ท่อนำไข่อาการมักเกิดหลังจากที่ตั้งครรภ์ประมาณ 7 สัปดาห์ โดยปกติแล้วรังไข่จะผลิตไข่ และปล่อยให้ไข่เดินทางผ่านท่อนำไข่ จากนั้นก็ปฏิสนธิกับอสุจิ และเคลื่อนตัวมาที่มดลูก แต่กรณีของการท้องนอกมดลูกคือ ไข่ได้รับการปฏิสนธิแต่ไม่เคลื่อนลงมาฝังตัวที่มดลูกเลยค้างอยู่ที่บริเวณท่อนำไข่ โดยประมาณสัปดาห์ที่ 7 - 8  จะเริ่มสังเกตอาการต่าง ๆ อาทิ

  • ปวดท้องเฉียบพลัน
  • มีเลือดออกที่อวัยวะเพศ
  • เวียนศีรษะ
  • ความดันต่ำ

สัญญาณ!! อาการของการท้องนอกมดลูกที่พบบ่อย
              ประกอบไปด้วยอาการปวดท้อง ขาดประจำเดือน และเลือดออกทางช่องคลอด ในภาวะท้องนอกมดลูกระยะแรกอาจไม่พบอาการใดๆ เมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินการต่อไป อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการเจ็บที่ท้องหรือท้องน้อย ซึ่งมักพบในผู้ป่วยเกือบทุกคน ลักษณะของการปวดมักเป็นลักษณะบีบรัดเป็นช่วงๆ อาจจะเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง อาจหายไปหรือปวดอยู่ตลอดเวลา ในกรณีที่มีเลือดออกในช่องท้องจำนวนมากอาจระคายเคืองต่อกระบังลม ทำให้มีการปวดร้าวไปที่หัวไหล่ได้ ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ซึ่งมักพบในระยะที่มีการแตกของท่อนำไข่แล้ว อาการแสดงอาจพบได้ตั้งแต่ตรวจไม่พบอะไร จนถึงผู้ป่วยมาด้วยภาวะช็อกจากการเสียเลือด มักไม่พบในการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรืออาจพบได้เล็กน้อย  การตรวจพบหน้าท้องโป่งตึง และกดเจ็บ พบในรายที่มีเลือดในช่องท้อง ภาวะกดเจ็บหน้าท้องพบได้บ่อยร้อยละ 50 - 90 ภาวะเจ็บเมื่อมีการโยกปากมดลูก และภาวะกดเจ็บที่ปีกมดลูกก็เป็นภาวะที่พบได้บ่อยเช่นกัน การตรวจพบก้อนที่ปีกมดลูก พบได้ 1 ใน 3 ดังนั้นการตรวจไม่พบก้อนจึงไม่ใช่ข้อบ่งชี้ที่ตัดภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูกออกจากการวินิจฉัย ขนาดของมดลูก อาจโตขึ้นเล็กน้อย มีขนาดนุ่มคล้ายกับการตั้งครรภ์ตามปกติ การตรวจพบมีเลือดออกจากปากมดลูกหรือพบเนื้อเยื่ออาจทำให้คิดว่าเป็นภาวะแท้งจากการตั้งครรภ์ในมดลูกได้

DID YOU KNOW !! ในกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนักแต่อันตรายมากคือ ไข่ยังคงติดอยู่ที่รังไข่หรืออวัยวะภายในช่องท้องส่วนล่าง หากตัวอ่อนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องอาจทำให้อวัยวะฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกเป็นจำนวนมาก และสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ที่มีอาการนี้ หากคุณมีอาการตั้งครรภ์ในช่วงแรกอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว คุณควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้การท้องนอกมดลูกเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และมีผลกระทบต่อจิตใจของว่าที่คุณแม่เนื่องจากคุณแม่ต้องแท้งลูก การสูญเสียในครั้งนี้ต้องใช้เวลาฟื้นตัวทั้งทางร่างกายแต่จิตใจมากสักหน่อย

ท้องนอกมดลูกพบได้บ่อยขนาดไหน?
              การท้องนอกมดลูกเกิดขึ้นไม่บ่อย อาจพบในผู้หญิงร้อยละ 1 การที่ท่อรังไข่อุดตันอาจเกิดจากการติดเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดการท้องนอกมดลูก หากคุณกำลังวางแผนจะมีลูกแต่กำลังเป็นโรคติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะหรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ ทางออกที่ดีที่สุดคือ รักษาตัวให้หายดีเสียก่อนแล้วจึงค่อยพยายามมีลูก

วิธีการรักษาอาการท้องนอกมดลูก การท้องนอกมดลูกสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องอาศัยการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและอายุครรภ์ของแต่ละคน ดังนั้นหากคิดว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูกคุณควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที หากปล่อยรอไว้จนกระทั้งอวัยวะภายในมีการฉีกขาดอาจมีอันตรายถึงชีวิต แพทย์ต้องใช้การผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อรักษาอาการท้องนอกมดลูก

หากอายุครรภ์ที่ตรวจพบว่าท้องนอกมดลูกยังไม่มากและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร แพทย์จะใช้วิธีการ “ผ่าตัดส่องกล้อง” เพื่อเอาตัวอ่อนออกและเย็บซ่อมแซมส่วนทีเสียหาย อีกทางเลือกหนึ่ง คือการให้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์

การดูแลตัวเองหลังการรักษาอาการท้องนอกมดลูก ช่วงที่พักรักษาตัวหลังการรักษาอาการท้องนอกมดลูก ควรพักสักระยะหนึ่งเพื่อฟื้นฟูร่างกาย และจิตใจหลังจากต้องเผชิญกับความผิดหวัง และสูญเสียลูกในเวลาเดียวกัน   เรื่องที่เกิดเป็นเรื่องธรรมชาติ  คุณแม่ไม่ควรโทษตัวเองและทำร้ายจิตใจตัวเอง อย่างไรก็ตามหากต้องมีลูกอีกครั้งสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัว ทั้งนี้ ควรทิ้งช่วงสักระยะหนึ่งก่อนจะเริ่มพยายามมีลูกอีกครั้ง โดยทั่วไปแล้วคุณหมอแนะนำว่าควรรอสัก 3 - 6 เดือน

Q: หากเคยท้องนอกมดลูกมาแล้ว จะสามารถมีลูกไปตามปกติหรือไม่
 A: ผู้หญิงที่ท้องนอกมดลูกมาก่อนก็สามารถมีลูกที่แข็งแรงได้ในอนาคตเหมือนคนอื่นทั่วไปแม้ว่าจะเหลือท่อนำไข่ข้างเดียวก็ตาม หากสาเหตุที่คุณท้องนอกมดลูกเกิดจากความเจ็บป่วยหรือการติดเชื้อแล้วแพทย์ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 0-2271-7000 ต่อ สุขภาพสตรี