โรคอัลไซเมอร์
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
16-ต.ค.-2564
โรคความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะมีการเสื่อมของเซลล์สมองทุกส่วน เป็นแล้วไม่มีวันหาย ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ไม่สามารถแยกผิด ถูก มีปัญหาในเรื่องของการใช้ภาษา การประสานงานของกล้ามเนื้อเสียไป ความจำเสื่อม ในระยะสุดท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด

จากข้อมูลสถิติระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลกพบว่า อุบัติการณ์ และความชุกของโรค     อัลไซเมอร์มากขึ้นตามอายุ 1ใน 4 ของผู้สูงอายุ 85 ปี เป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่ออายุ 95 ปี ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 2-3 % ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น แม้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถป้องกัน หรือรักษาให้หายได้ แต่เราก็สามารถช่วยผู้ป่วยได้โดยทราบวิธีการดูแลที่ถูกต้อง

สาเหตุหลัก ของโรคอัลไซเมอร์

  • ความผิดปกติในเนื้อสมอง
  • การอักเสบ Inflammatory สาร amyloid เมื่อสลายจะทำให้อนุมูลอิสระออกมา อนุมูลนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์สมอง
  • กรรมพันธุ์
  • การอักเสบ Inflammatory สาร amyloid เมื่อสลายจะทำให้อนุมูลอิสระออกมา อนุมูลนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์สมอง
  • กรรมพันธุ์

ปัจจัยเสี่ยง

  • ยิ่งอายุมากยิ่งมีโอกาสเป็นมาก จากสถิติพบว่าร้อยละ 25 ของผู้มีอายุ 85 ปี ป่วยเป็นโรคนี้
  • โรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำ
  • กรรมพันธุ์ หากมีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ ก็มีโอกาสที่จะเป็นมากขึ้น
  • พฤติกรรมของคนบางกลุ่มที่มักใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ไม่รับผิดชอบหน้าที่การงาน หรือไม่ได้ฝึกพัฒนาความคิด

การดำเนินโรค 
      อาการจะเริ่มเป็นตอนอายุ 65 ปี แต่บางรายเป็นเร็วกว่านั้นอาจจะเริ่มตอนอายุ 40 ปี โดยที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลา 2-10 ปีด้วยโรคแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อจากปอดบวม หรือแผลกดทับ

โรคอัลไซเมอร์ สามารถแบ่งระยะโรคได้ 3 ระยะ

  • ระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะรับรู้ว่าขี้ลืม ลืมปิดเตารีด ลืมปิดประตู ลืมชื่อคน ลืมรับประทานยา ต้องให้คนช่วยเขียนรายการที่จะทำ
  • ระยะที่สอง ผู้ป่วยจะสูญเสียความทรงจำ โดยเฉพาะความจำที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ โดยอาจจดจำเรื่องในอดีต เริ่มใช้คำพูดไม่ถูกต้อง อารมณ์ผันผวน
  • ระยะที่สาม ผู้ป่วยจะสับสน ไม่รู้วัน รู้เดือน บางรายมีอาการหลงผิด หรือเกิดภาพหลอน บางรายอาจจะก้าวร้าวรุนแรง ปัสสาวะราด ไม่สนใจตนเอง
ปัจจุบันสามารถตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งช่วยในการมองเห็นพยาธิสภาพทางสมอง หรือภาวะสมองเสื่อมอื่นๆ เป็นการตรวจหาความผิดปกติในเนื้อสมอง หาความผิดปกติในเซลล์สมอง การสะสมของโปรตีนในผนังหลอดเลือดในสมอง การสูญเสียของการเชื่อมต่อกันของเซลล์ประสาท พยาธิสภาพเหล่านี้ทำให้สารสื่อประสาทลดลงในส่วนต่างๆ ของสมอง อันมีภาวะทำให้เกิดโรค   อัลไซเมอร์ หรือความจำเสื่อม

 การดูแล ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
      การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต้องให้ความเข้าใจ เห็นใจว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจที่จะก้าวร้าว หงุดหงิดอย่างที่เราเห็น แต่เป็นจากตัวโรคเอง ไม่ควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจ อาย หรือหงุดหงิด
  • ควรจัดห้อง หรือบ้านให้น่าอยู่ ใช้สีสว่างๆ สดใส ถ้าในรายที่ชอบเดินไปมามากๆ ต้องใช้เทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
  • เก็บของมีคม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มิดชิด ปิดวาล์วเตาแก๊สไว้เสมอ
  • ในรายที่เริ่มจะดูแลยาก เช่น ก้าวร้าว เอะอะโวยวาย สับสนมาก หรือเดินออกนอกบ้านบ่อยๆ ควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบประสาท เนื่องจากอาจจำเป็นต้องใช้ยาลดอาการดังกล่าวร่วมด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ โรคระบบประสาทและสมอง