โรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
23-มี.ค.-2565
เมื่อเวลาผ่าน วัยมากขึ้น ความแข็งแรงของกระดูกย่อมเสื่อมถอยลง การดูแลใส่ใจควรมีมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก ไม่มีความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง กว่าจะรู้ได้ก็เมื่อกระดูกพรุนและเกิดการสึกหรอเกินกว่าจะดูแลได้
โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่เกิดจากความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลง และมีการเสื่อมสลายของโครงสร้างภายในกระดูก ทำให้กระดูกมีความเปราะบาง ส่งผลให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อยลง จึงเสี่ยงกับการเกิดกระดูกหัก บาดเจ็บได้ง่าย สำหรับความแข็งแรงของกระดูกเกิดจากปัจจัยความหนาแน่นของกระดูก และคุณภาพของกระดูก เมื่อสูงอายุขึ้น กระดูกก็จะเสื่อมสภาพไปตามวัย รวมถึงการขาดการออกกำลังกาย การดื่มสุรา การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย เป็นต้น

อาการของโรคกระดูกพรุนโดยทั่วไป มักจะมี 2 ระยะ คือ

  • ในระยะเริ่มต้น ที่มวลกระดูกเริ่มลดลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการอะไรเลย ส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นในผู้หญิงที่เริ่มหมดประจำเดือน และมีปัจจัยเสี่ยง ช่วงนี้สามารถตรวจสอบได้จากการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเท่านั้น
  • ในระยะที่กระดูกพรุนชนิดรุนแรงคือ มีกระดูกโปร่งบางมาก ร่วมกับมีกระดูกสันหลังหักยุบ หรือการเกิดกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลัง หลังโก่งค่อม และสังเกตได้ว่าส่วนสูงของผู้ป่วยลดลง ในบางครั้งอาการปวดหลังอาจจะร้าวมาที่บริเวณหน้าอก หลังโก่ง ทานข้าวได้น้อยลง อืดท้องแน่นท้อง มักจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป บางครั้งอาจเกิดกระดูกหักที่ตำแหน่งบริเวณข้อมือ กระดูกหักง่าย ปวดเมื่อยตามร่างกาย

ปัจจัยเสี่ยงกับโรคกระดูกพรุน
1. ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเพศหญิง
2. หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
3. กระดูกหักจากกระดูกบาง
4. ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย
5. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอ
6. สูบบุหรี่จัด
7. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีนปริมาณมากๆ เป็นประจำ
8. ผู้ที่กินยาบางชนิด ซึ่งทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายลดลง เช่น ยารักษาไทรอยด์ ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
9. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไร้ท่อผิดปกติ เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน
10. โรคของต่อมหมวกไต หรือการเข้าเฝือกเป็นระยะเวลานาน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

การวินิจฉัย
ปัจจุบันแพทย์สามารถวินิจฉัยกระดูกโปร่งบางก่อนเกิดอาการ โดยตรวจความหนาแน่นของกระดูด Bone Mineral Density หรือ BMD การตรวจนี้ใช้แสงเอกซเรย์ปริมาณน้อยมาก ส่องตามจุดที่ต้องการแล้วใช้คอมพิวเตอร์คำนวนหาความหนาแน่นของกระดูก เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐาน โดยการเปรียบเทียบกับมวลกระดูกของผู้หญิงอายุ 25 ปี การตรวจเลือดเพื่อค้นหาปริมาณการสร้าง และการสลายของกระดูก

การรักษา
การรักษาทางยา มียาหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคกระดูกบาง โดยเฉพาะหญิงวัยทอง กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน ได้แก่
  • ฮอร์โมนเอสโตรเจนมักให้ในกลุ่มผู้ป่วยตัดรังไข่ หรือ เพื่อลดอาการจากการหมดประจำเดือน
  • SWEMs (selective estrogen receptor modulators) เป็นยาที่สังเคราะห์ขึ้นคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเต้านม สามารถลดการสูญเสียมวลกระดูก และลดอุบัติการณ์ของกระดูกเปราะหักได้
  • แคสซิโนติน (Calcitonin) เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่สกัดจากปลาแซลมอน ช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก และลดอุบัติการณ์กระดูกสันหลังหัก มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้
  • บิสฟอสพอเนต (Bisphoshonates) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อกระดูกสันหลังหักยุบ และกระดูกสะโพกหักได้
  • ฮอร์โมนพาราไธรอยด์ในผู้ป่วยที่กระดูกพรุนรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อยากลุ่มอื่น
การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากภาวะกระดูกหัก เช่น การฉีดซีเมนต์          ที่กระดูกสันหลัง ในรายที่กระดูกสันหลังหัก ยุบ หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมในรายที่กระดูกสะโพกหัก สิ่งที่จะทำให้ทราบได้ว่ากระดูกมีการเสื่อมสภาพหรือไม่ ทำได้โดยการปรึกษาแพทย์เพื่อซักประวัติ เอกซเรย์ ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก และหากพบความผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลที่ถูกต้อง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร 1772 ต่อ กระดูกและข้อ