เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้อง MRI ข้อเข่า
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
12-ต.ค.-2565
title           เมื่อรู้สึกเจ็บปวดที่บริเวณข้อเข่า หรือมีอาการข้อเข่าฝืด ยืดติด เข่าบวม ประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่าจากการเล่นกีฬา โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging : MRI) ที่หัวเข่า เพราะนอกจากจะสามารถบอกลักษณะของกระดูกหัวเข่าแล้ว ยังสามารถทราบถึงความผิดปกติด้านต่างๆ บริเวณข้อเข่าด้วย
ทำความเข้าใจการทำ MRI ข้อเข่า
          การทำ MRI ( Magnetic Resonance Imaging ) คือ การตรวจด้วยเครื่องมือที่ใช้ตรวจร่างกายโดยใช้เทคโนโลยีในการสร้างภาพเสมือนจริงของส่วนต่างๆ ในร่างกาย ด้วยสนามแม่เหล็กความเข้มสูง และคลื่นวิทยุ ( Radio Frequency ) ทำให้สามารถให้รายละเอียด และความคมชัดของภาพของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย แสดงภาพบนจอคอมพิวเตอร์ โดยภาพที่ได้จะชัดเจนกว่า การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แบบ CTScan ดังนั้น การทำ MRI ข้อเข่า จึงสามารถให้คำตอบในกรณีที่สงสัยว่าข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ มีการฉีกขาดของเส้นเอน กระดูกหัก หรือร้าวหรือไม่ รวมถึงยังสามารถบอกได้ว่าปริมาณน้ำในข้อเข้าเป็นอย่างไร นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัย และเตรียมพร้อมสำหรับแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด
อาการแสดงที่บ่งบอกว่าควรทำ MRI ข้อเข่า
• ข้อเข่าบวม เจ็บ
• ปวดเข่า เรื้อรัง
• ข้อเข่าติด ฝืด
• เดินไม่ถนัด เดินขึ้นบันไดไม่ได้
• เหยียดหรืองอขาจนสุดไม่ได้
• เกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า

การทำ MRI ข้อเข่ามีข้อจำกัดหรือไม่?
          เนื่องจากเป็นการเป็นตรวจที่ไม่มีรังสีเอกซ์ที่เป็นอันตรายแก่ร่างกาย ทำให้สามารถตรวจในผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย โดยไม่ต้องเตรียมตัวมากนัก สามารถทำ MRI ได้ทันที และยังตรวจได้ในกรณีที่ตั้งครรภ์ในช่วง 6 – 9 เดือนได้ หากมีข้อบ่งชี้การส่งตรวจที่เหมาะสม แต่ยังคงหลีกเลี่ยงการตรวจในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แต่การตรวจ MRI ไม่ว่าจะส่วนใดยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากเป็นการคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจึงเกิดมีสนามแม่เหล็กแรงสูงตลอดเวลา ผู้ป่วยที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกายควรหลีกเลี่ยง เช่น ผู้ที่ผ่าตัดติดคลิปอุดหลอดเลือดโป่งพอง ผู้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าปลอดภัยต่อการเข้ารับการตรวจหรือไม่ ส่วนในกรณีที่มีการดามกระดูก คนที่เปลี่ยนข้อเทียม อาจทำให้ภาพที่ได้มีสัญญาณรบกวน ถ้าอยู่ใกล้บริเวณที่ทำการตรวจ นอกจากนี้ ผู้ที่กลัวที่แคบๆ หรือไม่สามารถนอนราบในอุโมงค์ตรวจได้ ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการตรวจในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาระงับประสาทหรือดมยาสลบก่อนเข้ารับการตรวจ
MRI ข้อเข่าใช้เวลาการตรวจนานเท่าไร?
          โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง และจะทราบผลหลังการตรวจเสร็จ ประมาณ 1.30 - 2 ชั่วโมง เนื่องจากการตรวจด้วยเครื่อง MRI จำเป็นต้องเป็นรังสีแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางที่เกี่ยวกับเข่าโดยเฉพาะเป็นผู้อ่านผลให้ ในกรณีที่ MRI อวัยวะส่วนอื่นก็จะใช้ระยะเวลาในการตรวจไม่ต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการตรวจ


หลังการตรวจ MRI ข้อเข่า ปฎิบัติอย่างไร?
          หลังการตรวจผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับบ้าน และทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ยกเว้นในรายที่ก่อนเข้ารับการตรวจ และต้องใช้ยาที่ช่วยให้สงบอารมณ์ระงับประสาท ต้องมีเพื่อน ญาติ ผู้ใกล้ชิดดูแล หลีกเลี่ยงการขับรถ ทำงานกับเครื่องจักร เพราะอาจเป็นอันตรายได้


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ