อาการปวดข้อมือ
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
22-มี.ค.-2565
ลักษณะอาการ ปวดข้อมือ ด้วยโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ถือเป็นโรคซึ่งพบบ่อยมากโรคหนึ่งในวัยกลางคนถึงสูงอายุ ส่งผลทำให้มีอาการปวด ชา และอ่อนกำลังที่มือ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ สาเหตุของอาการปวดข้อมือ คือ
1. อาชีพที่ต้องใช้มือตลอดเวลา เช่น เย็บปักถักร้อย ขับรถ ช่างทาสี การเขียนหนังสือ การใช้เครื่องมือที่สั่น เช่น เครื่องเจาะถนน กีฬาบางประเภท การเล่นดนตรี การพิมพ์ดีด การใช้แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ การห่อของในโรงงาน ฯ

2. จากอุบัติเหตุ ทำให้ข้อมือช้ำ กระดูกหัก ข้ออักเสบ
3. จากโรคทั่วไปของร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์ เนื้องอกบริเวณข้อมือ
อาการเริ่มต้นส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยอาการปวดที่ข้อมือ และมักจะปวดในช่วงกลางคืนมากกว่าในช่วงกลางวัน บางครั้งอาจปวดมากจนทำให้ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อสะบัดมือ โดยจะเป็นอยู่สักพักแล้วอาการก็จะค่อยๆ ทุเลาลง หากปล่อยทิ้งไว้อาการก็จะยิ่งเป็นมากขึ้น โดยจะมีอาการชาที่นิ้วมือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ทางด้านอุ้งมืออาจมีความรู้สึกเหมือนนิ้วหนาและหนัก และกล้ามเนื้อฝ่อ ถ้าปล่อยไว้นาน 4 – 5 เดือน อาการมักจะเป็นตลอดเวลา
โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 80% สำหรับวัยที่มีความเสี่ยงสูง คือ ตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป โดยคนไทยมีโอกาสเป็นมากกว่าชาวยุโรป และมักจะเป็นทั้งสองมือ อาจจะเป็นพร้อมกันก็ได้ โรคนี้ไม่ใช่โรคที่เกิดทางพันธุกรรม แต่สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ข้อมือ และมือในลักษณะซ้ำๆ กันเป็นเวลานานๆ

การตรวจวินิจฉัยโรค
การตรวจวินิจฉัยโรคทำได้โดยการตรวจร่างกาย การตรวจการนำคลื่นไฟฟ้าของเส้นประสาทข้อมือ การเอกซเรย์กระดูกข้อมือ สำหรับการรักษาหากเป็นระยะเริ่มแรกควรงดการใช้งานมือข้างนั้น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก และการใช้มือในลักษณะซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ ใช้หมอนรองข้อมือเวลาทำงาน และเวลานอน

รักษาได้อย่างไร
อาการปวดข้อมือ มีสาเหตุและระดับความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งวิธีการรักษาก็มีหลายวิธีเช่นกัน ดังนี้

  1. การทำกายภาพบำบัด สามารถช่วยรักษาอาการปวดได้โดยใช้ที่ดามข้อมือตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน
  2. รับประทานยาแก้อักเสบ หากอาการเป็นมากขึ้น ปวดชามาก กินยาไม่ดีขึ้น อาจต้องฉีดยาที่บริเวณข้อมือ เพื่อลดอาการอักเสบภายในโพรงข้อมือ กรณีการฉีดยาส่วนใหญ่แพทย์จะไม่แนะนำให้ฉีดเกิน 3 ครั้ง เนื่องจากเป็นยาสเตียรอยด์ อาจมีผลเสียได้ถ้าฉีดมากเกินไป
  3. การผ่าตัด จะทำเมื่อการรักษาด้วยยา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล และในรายที่มีอาการรุนแรง กล้ามเนื้อฝ่อมักจะไม่ได้ผลเมื่อรักษาด้วยยา


วิธีการผ่าตัด ทำได้โดย

  1. การผ่าตัดโดยการเปิดแผลและตัดเอ็นที่ด้านหน้า และขยายช่องให้ใหญ่ขึ้น
  2. การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง จะทำให้แผลมีขนาดเล็กและหายเร็ว อาการปวดไม่มาก และสามารถใช้งานมือได้เร็วขึ้น

การป้องกัน ทำได้อย่างไร
หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การใช้งานมือซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะออกกำลังกายบริเวณข้อมือด้วย รวมทั้งปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ออฟฟิศให้ถูกต้อง เหมาะสม หากจำเป็นต้องใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรหาแผ่นรองข้อมือเพื่อป้องกันการบาดเจ็บกระดูกข้อ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ