ศ.นพ. บัญชา ชื่นชูจิตต์

เวชศาสตร์การกีฬา

วุฒิบัตร

เวชศาสตร์การกีฬา
วัน เวลา
พุธ 13:00 - 16:00
พฤหัสบดี 15:00 - 17:00
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านกระดูก ข้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท และกล้ามเนื้อทุกชนิด จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อเฉพาะด้าน เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างที่ตัวเองต้องการ

พัฒนาความรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อผลการรักษาที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของผู้ป่วย

รศ.นพ.ดร. บัญชา ชื่นชูจิตต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากระดูกและข้อ และเวชศาสตร์การกีฬาจากTechnical University of Munich ประเทศเยอรมัน มีความชำนาญเฉพาะทางด้านรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือการทำงาน การผ่าตัดส่องกล้องข้อสะโพกและข้อเข่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่ สั่งสมประสบการณ์ดูแล และผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมากว่า 20 ปี ทำให้คุณหมอมีทักษะในการวินิจฉัย และวางแผนการผ่าตัดรักษาได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังไม่หยุดพัฒนาความรู้เข้าร่วมอบรมวิทยาการทางการแพทย์ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ถูกรับเชิญให้เป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชาการทั้งในและต่างประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ กลับมาช่วยรักษาผู้ป่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เป้าหมายสูงสุดของการรักษา คือความพึงพอใจของผู้ป่วย

คุณหมอให้ความสำคัญกับการรักษาแบบเฉพาะบุคคล เพื่อให้เหมาะสมกับการกลับไปใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเช่น ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการข้อไหล่ยึดติดไม่สามารถยกได้สุด เจ็บปวดเมื่อยกแขน และกังวลว่าอาการเหล่านี้ต้องจบลงด้วยการผ่าตัดเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วหากไม่รุนแรงยังสามารถรักษาด้วยการรับประทานยา กายภาพบำบัด ออกกำลังกายเพื่อให้ข้อไหล่มีการขยับเรื่อยๆ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องทำงานหนักหรือมีกิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ป่วยบางรายที่ต้องจัดการความเจ็บปวดให้หายไป เพื่อให้สามารถกลับมาทำงานหรือกิจกรรมอื่นได้โดยเร็ว ก็อาจเลือกรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ในปัจจุบันกว่า 90 - 95%สามารถผ่าตัดส่องกล้องได้ โดยเปิดแผลเพียงเล็กน้อย ลดการเสียเลือด ภาวะแทรกซ้อนน้อย จึงทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว และกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว

อยากเห็นผู้ป่วยหายจากอาการทุกข์ทรมาน จึงลงมือรักษาด้วยหัวใจ

ตลอดหน้าที่การทำงานของแพทย์ เราเห็นความเจ็บป่วยของผู้ป่วยมามากพร้อมๆ กับข้อจำกัดในการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งเรื่องปัญหาสุขภาพ ภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงการไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา ดื้อบ้าง ไม่เชื่อฟังหมอบ้างก็มี (ยิ้ม) แต่ส่วนใหญ่ถ้าเราขอความร่วมมือจากญาติ รวมถึงใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจระยะหนึ่ง การรักษาก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แม้อาจจะใช้เวลานาน กว่าจะเห็นรอยยิ้มของผู้ป่วยและของญาติแต่สุดท้ายเราก็ยังได้เห็น


“ มีผู้ป่วยรายหนึ่งที่หมอรู้สึกประทับใจกับการรักษามาก ผู้ป่วยมาด้วยอาการยกไหล่ไม่ขึ้น เจ็บปวด แต่ต้องทนเพราะมีอาชีพทำนา มีเงินไม่มาก เราเริ่มรักษาเขาตั้งแต่ให้ยารับประทาน สอนท่าบริหารทำกายภาพ แต่ด้วยอาชีพอาการก็ไม่ดีขึ้น ดูแลกันมานานหลายปี นัดตรวจแต่ละครั้งก็จะช่วยดูแลค่าใช้จ่าย เพราะไม่อยากให้ขาดการรักษา เพราะสุดท้ายอาการจะรุนแรงมาก ซึ่งก็รุนแรงจริงๆ จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท่านั้นเพราะข้อไหล่เสื่อมมาก รวมถึงมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ด้วยรูปแบบการรักษาเราจะให้ผู้ป่วยโรคเดียวกันพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อลดความกลัว ใครทำแล้วดีขึ้นก็มักจะปรึกษาให้ข้อมูลซึ่งกัน และกัน ซึ่งเคสนี้ผู้ป่วยหลายรายที่หมอดูแลช่วยกันบริจาคค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงได้ทำการผ่าตัด อาการเจ็บปวดเขาก็หายไป มีความสุขทุกฝ่าย ทั้งตัวหมอ ผู้ป่วย และผู้ที่คอยให้การช่วยเหลือ สิ่งที่เกิดนี้ย้ำให้เรารู้ว่ารูปแบบการรักษาที่เราทำอยู่ทุกวันมาถูกทางแล้ว