แพ้ท้องหรือไม่? แพ้มากไหม? อาเจียนหนักหรือเปล่า รับประทานอาหารได้บ้างไหม? อยากรับประทานอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ?คำถามที่สตรีเริ่มตั้งครรภ์มักได้ยินบ่อยๆ จากบุคคลรอบข้าง และมักทำให้ว่าที่คุณแม่แอบเก็บมาถามตัวเองด้วยว่า..ฉันต้องแพ้ท้อง และอาเจียนด้วยหรือ?
เหตุใด จึงมีอาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องของสตรีที่เริ่มตั้งครรภ์ ยังไม่สามารถสรุปที่มาได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาการแพ้ท้องเป็นลักษณะอาการที่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย ฮอร์โมนในการตั้งครรภ์ และสภาวะด้านจิตใจของคุณแม่ที่มีความวิตกกังวล ความเครียด ความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้ สามารถส่งผลให้เกิดอาการแพ้ท้อง บางรายที่มีความวิตกกังวลมากมักมีอาการแพ้ท้องมากขึ้น
ในทางกลับกันถ้าตั้งครรภ์แล้วไม่แพ้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดี และไม่ได้มีความผิดปกติ อีกทั้ง ยังอาจมีผลมาจากจิตใจที่มั่นคง ไม่วิตกกังวล หรือมีความเครียดของคุณแม่เองด้วยจึงไม่เกิดการแพ้ลักษณะการแพ้ท้องที่พบบ่อย
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ง่วงนอนตลอดเวลา
- ไม่อยากอาหาร รู้สึกขมในปาก
- รู้สึกไวต่อกลิ่น เหม็นบางสิ่ง หรือรู้สึกหอมกับบางสิ่งได้ไว

อาการแพ้ท้องเช่นไร จึงเรียกว่าแพ้มาก หรือควรต้องพบสูตินรีแพทย์
กรณีที่แพ้ไม่มาก แก้ไขด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน โดยรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เลี่ยงของทอด ของมัน ของที่มีกลิ่นแรงๆ เน้นอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการครบ 5 หมู่ แบ่งการรับประทานอาหารเป็นมื้อย่อย และรับประทานในปริมาณครั้งละน้อยๆ จำนวนมื้อที่บ่อยขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับอาหารอย่างพอเพียง สามารถจิบน้ำขิงอุ่นๆ หรือน้ำผลไม้คั้นสดร่วมด้วยกรณีที่แพ้มาก ก่อนอื่นต้องบอกว่าระดับการแพ้ท้องไม่มีเกณฑ์วัดที่ชัดเจน เป็นการพิจารณาจากอาการและสภาพร่างกายของคุณแม่เป็นหลัก ซึ่งแต่ละท่านจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันซึ่ง สูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการ ส่วนใหญ่กรณีที่มีอาการแพ้ท้องมากจนกระทั่งไม่สามารถรับประทานอาหารได้ อาเจียนตลอดเวลา เพียงเท่านี้ก็เป็นสัญญาณที่จะบอกได้ว่า คุณพ่อควรพาคุณแม่ไปพบสูตินรีแพทย์ที่ฝากครรภ์ได้แล้ว ในเบื้องต้นคุณแม่อาจได้รับยาแก้แพ้ช่วยบรรเทาอาการอาเจียน ยาช่วยย่อย ยาขับลม แต่สำหรับกรณีที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงอาเจียนมาก รับประทานอาหารไม่ได้ ร่างกายจะขาดอาหาร อ่อนเพลีย พักผ่อนได้น้อย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ คุณแม่จึงอาจต้องนอนพักเพื่อให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล เป็นการป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ และเพื่อตรวจพิจารณาการแพ้ท้องที่เป็นมากเพิ่มเติมอย่างละเอียด
รู้สึกมีความสุขกับการตั้งครรภ์ แต่ต้องทรมานจากการแพ้ท้องอีกนานเท่าไหร่?
การแพ้ท้องโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรก หรือไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ และอาการแพ้จะลดลง หรือหมดไปสำหรับบางท่าน แต่ในบางรายอาจมีอาการแพ้ไปจนถึงวันคลอด
จิตใจสบาย เชื่อมต่อการแพ้
สิ่งที่ควรให้ความสนใจจึงไม่ใช่พุ่งเป้าไปว่าท้องแล้วจะแพ้หรือไม่ แต่ควรทำจิตใจให้สบาย ไม่คิดกังวล หรือเครียดกับเรื่องของลูกน้อยในครรภ์ และเรื่องชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ เพราะคาดว่าจิตใจมีส่วนสำคัญประการหนึ่งที่เชื่อมโยงกับการแพ้ท้อง การเริ่มต้นตั้งครรภ์ที่ดีคุณแม่ควรให้ความสนใจการฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ให้ความสำคัญกับโภชนาการอาหารที่จะรับประทานในแต่ละวัน ดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ อย่างเพียงพอ ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง เพราะจะรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียนได้ง่าย นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่ และคุณลูกในครรภ์ หากคุณแม่ท่านใดต้องเผชิญกับอาการแพ้ท้อง ขอให้มองในมุมบวกว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คุณแม่หลายๆ ท่านก็ต้องเผชิญอาการเหล่านี้ ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หรือไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการแพ้ที่มากผิดปกติ เพียงเท่านี้การตั้งครรภ์ของคุณก็จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของสองสายใยที่ผูกพันรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในทุกๆ วัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 0-2271-7000 ต่อ สุขภาพสตรี