เชื่อหรือไม่ว่ายังมีสาวๆ หลายท่านที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับความเชื่อระหว่างวันนั้นของเดือน
ไม่จำเป็นต้องเป็นวัยแรกแย้มที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือน เพราะสาวๆ ที่ผ่านการมีประจำเดือนมาหลายต่อหลายครั้ง
ก็ยังเข้าใจผิดในหลายๆ เหตุการณ์ ดังนั้น เราจึงหาคำตอบมาฝาก
สำหรับข้อห้ามทั้งหลายในช่วงมีประจำเดือน ว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร
ห้ามลงไปว่ายน้ำในช่วงมีประจำเดือนเป็นอันขาด ถ้าคุณอยากว่ายน้ำในช่วงมีประจำเดือนสามารถทำได้ ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัยแบบสอดแทน ซึ่งผ้าอนามัยแบบสอดจะคอยซึมซับเลือดที่ไหลออกมา โดยควรจะเปลี่ยนก่อนลงเล่นน้ำ และเมื่อคุณเล่นน้ำจนสบายอกสบายใจแล้วก็ควรเปลี่ยนทันที หรือไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 8 ชั่วโมง แต่ไม่ควรลงเล่นน้ำช่วงวันนั้นของเดือนโดยไม่ใส่ผ้าอนามัยแบบสอด เพื่อสุขอนามัยของตัวคุณเอง และผู้อื่นที่ร่วมเล่นน้ำกับคุณด้วย แม้จะเคยได้ยินกันมาว่า แรงดันน้ำจะช่วยให้เลือดประจำเดือนไม่ไหลออก แต่ความจริงคือเป็นไปไม่ได้เกือบทั้งหมด
จริงหรือไม่? มีประจำเดือนห้ามดื่มน้ำเย็น เรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เข้ามายืนยันว่าเป็นเรื่องต้องห้าม หากวันนั้นของเดือนคุณเผลอดื่มน้ำเย็นก็ไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง เป็นเพียงความเชื่อที่บอกต่อๆ กันมา ประกอบกับช่วงมีประจำเดือนร่างกายเราเกิดการเสียเลือด สาวๆ บางรายอาจรู้สึกไม่สบายตัวคล้ายเป็นไข้ หากดื่มน้ำเย็น หรือรับประทานอาหารเย็นๆ อาจจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเจ็บป่วย จึงแนะนำให้ดื่มน้ำอุ่น เพราะเครื่องดื่มอุ่นๆ จะช่วยให้ผ่อนคลาย และลดอาภาวะตึงเครียดได้ด้วย
เวลามีประจำเดือน ห้ามอาบน้ำเย็น ต้องอาบน้ำอุ่นเท่านั้น ข้อห้ามนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันเช่นกัน ซึ่งไม่ต่างไปจากห้ามดื่มน้ำเย็น การอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ รวมถึงหมั่นเปลี่ยนแผ่นอนามัยบ่อยๆ เพื่อลดการหมักหมมของเชื้อโรค สำหรับการอาบน้ำ สามารถอาบได้ทั้งน้ำเย็น และน้ำอุ่น เพียงแต่การอาบน้ำเย็นอุณหภูมิต่ำๆ หรือเย็นจนเกินไปในช่วงเวลาที่ร่างเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน จนเสี่ยงต่อการป่วยไข้ อีกทั้งการอาบน้ำอุ่นสามารถช่วยคลายความเมื่อยล้าที่เผชิญมาตลอดทั้งวันได้ อย่างที่ทราบกันดีว่าระหว่างมีประจำเดือนคุณสาวๆ จะรู้สึกปวดท้อง ปวดขา ปวดหลัง การเลือกอาบน้ำอุ่นจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยให้สบายตัวขึ้น ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในเวลามีประจำเดือน แนะนำว่าไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากกว่าปกติถึง 3 เท่า ความเสี่ยงที่ว่านี้คือในระหว่างที่มีประจำเดือน ปากมดลูกจะเปิดออกให้เลือดประจำเดือนไหลได้สะดวก ขณะเดียวกันเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด และแบคทีเรียที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์จะเข้าสู่ร่ากายได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ธาตุเหล็กที่มีอยู่ในเลือดประจำเดือนจะเป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหนองในได้เร็วขึ้น และการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย จนอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ลุกลาม และรุนแรง
อีกหนึ่งปัจจัยห้ามฝ่าไฟแดงคือ ในช่วงมีประจำเดือนภูมิต้านทานเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสในร่างกายจะทำงานแย่ลง ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของเราจะมีปฏิกิริยาอัตโนมัติทันทีที่ได้รับเชื้อโรค และจะทำการป้องกัน แต่เมื่อเกราะป้องกันทำงานไม่เต็มที่ เชื้อโรคเหล่านี้ก็จะสามารถหลุดรอดเข้าสู่ร่างกายเราได้ง่าย
ห้ามออกกำลังกายในวันที่มีประจำเดือน เป็นที่ทราบกันดีว่าการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และสม่ำเสมอจะช่วยทำให้สุขภาพเราดีขึ้น และลดอาการปอดท้องในระหว่างมีประจำเดือนในแต่ละเดือนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ในวันที่มีประจำเดือน แนะนำให้ลดระดับการออกกำลังกายลง ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนักเพื่อให้เลือดไหลเวียนสะดวก และไม่เหนื่อยจนเกินไป เพราะการที่หัวใจเต้นเร็วจะเป็นตัวเร่งให้ปริมาณประจำเดือนออกมามากขึ้น รู้สึกอ่อนเพลียได้ง่าย และไม่ควรเลือกออกกำลังกายด้วยวิธีการว่ายน้ำ
ข้อมูลโดย : นายแพทย์สุวันชัย ชัยรัชนีบูลย์
สูติ-นรีแพทย์ เฉพาะทางด้านการส่องกล้องผ่าตัด
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สุขภาพสตรี
.jpg)