หลังพัง ซ่อมได้
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
20-พ.ค.-2565

         ปัจจุบันโรคกระดูกสันหลังพบได้มากขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น ท่านั่งทำงานไม่เหมาะสม นั่งทำงานไม่ขยับเคลื่อนไหวนานๆ ก้มยกของหนัก ประกอบกับเมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเกิดความเสื่อมตามธรรมชาติ หมอนรองกระดูกสันหลังจะเริ่มเสื่อมได้ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และเสื่อมมากขึ้นตามอายุ ทั้งกระดูกสันหลัง - ข้อต่อกระดูกสันหลัง จนทำให้มีอาการของโรคกระดูกสันหลัง

         อาการของโรคกระดูกสันหลังเริ่มพบได้ ตั้งแต่วัยทำงานจนถึงวัยสูงอายุ โดยจะมีอาการปวดหลัง ปวดน่องหรือขา ทำให้เดินได้ไม่ไกล ปวดหลังร้าวไปที่น่องหรือขา ชาที่ขาหรือเท้า ขา หรือเท้าอ่อนแรง บางรายปัสสาวะ - อุจจาระลำบาก สังเกตเห็นอาการหลังค่อม ตัวเอียง หลังคด โรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคปวดหลังจากกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อหลังอักเสบ โรคหมอนรองกระดูกสันหลัง-กระดูกสันหลังเสื่อม โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบทับเส้นประสาท บางรายอาจเป็นโรคกระดูกสันหลังติดเชื้อ และโรคเนื้องอก - มะเร็งกระดูกสันหลัง

         โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท และโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบทับเส้นประสาท ที่มีอาการไม่รุนแรง จะใช้แนวทางรักษาแบบอนุรักษ์ (ไม่ผ่าตัด) ประกอบด้วย
• แนะนำหลีกเลี่ยง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การก้ม ยกของ การนั่ง การยืน และการนอน
• รับประทานยา
• ทำกายภาพบำบัด และการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง - หลัง (4) การฉีดยาเข้าตรงตำแหน่งซึ่งเป็นสาเหตุของโรค

         แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลัง บางรายอาจใช้การเอกซเรย์ธรรมดา ร่วมกับเอกซเรย์คลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรค และวางแผนการรักษา ในรายที่รักษาแบบอนุรักษ์แล้วไม่ดีขึ้น หรือในรายที่อาการรุนแรง มีแนวทางรักษาด้วยการผ่าตัดหลายวิธี

• ผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็ก สามารถเห็นภาพได้ชัดเจน ทั้งแสง และการขยายภาพ แผลผ่าตัดขนาดเล็ก ปวดแผลน้อย ทำลายเนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อน้อย เสียเลือดน้อย สามารถลุกเดินได้ทันทีหลังผ่าตัด ลดเวลาการนอนโรงพยาบาล ลดการเกิดแผลเป็นในโพรงกระดูกสันหลัง ลดพังผืดรัดเส้นประสาท ถ้าต้องผ่าตัดในครั้งต่อไปเนื้อเยื่อต่างๆ จะเหมือนเนื้อเยื่อปกติ
• ผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง ด้วยกล้องจุลทรรศน์
• ผ่าตัดนำกระดูกทับเส้นประสาทออก และใส่โลหะเหล็กดามกระดูก โดยเชื่อมกระดูกสันหลังข้อที่เสื่อมไม่ให้เคลื่อนไหว ด้วยวิธีดั้งเดิม และวิธีแบบแผลเล็ก รักษาในรายกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังคด
• ผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม รักษาโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือทับเส้นประสาท เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังข้อข้างเคียงเสื่อม

         ปัจจุบันพบโรคกระดูกสันหลังมากขึ้น และหลายครั้งที่ผู้ป่วยไม่เข้ารับการตรวจรักษาตั้งแต่เริ่ม กลับละเลยจนต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าผู้ป่วยจะรักษาด้วยวิธีใด เพียงแค่เห็นผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดทั้งสำหรับผู้ป่วย และหมอด้วยเช่นกัน

นพ.วันชัย บุญญาภิรัตน์
ศัลยแพทย์เฉพาะทางกระดูกสันหลัง สถาบันกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ