ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ เกิดขึ้นได้อย่างไร
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
11-ส.ค.-2565
ติ่งเนื้อ (Polyp) หากเกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่อาจเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ยังอยู่ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือเกือบเป็นมะเร็ง หรือเป็นมะเร็งระยะไม่ลุกลาม โดยมีเยื่อบุผนังภายในลำไส้ใหญ่ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยสารพิษที่อยู่ในอาหารโดยเฉพาะอาหารมัน ซึ่งมักจะเป็นผลมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นเวลานานหลายปี ประกอบกับมีความผิดปกติที่ ยีน (gene) หรือสารพันธุกรรมจนเกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่ หรือเรียกว่า การกลายพันธุ์ (mutation) เกิดเป็นเนื้องอกเล็กๆ ขึ้น ซึ่งเนื้องอกนี้ยังไม่ใช่มะเร็ง เป็น ระยะก่อนมะเร็ง (Precancerous) ต่อมาเนื้องอกเล็กๆ

นี้จะกลายพันธุ์ และแบ่งตัวหลายๆ ครั้งจนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ความผิดปกติของลักษณะเซลล์มีมากขึ้นจนถึง ระยะเกือบเป็นมะเร็ง (severe dysplasia) ยิ่งมีขนาดใหญ่โอกาสเป็นมะเร็งก็สูงขึ้น การเป็นมะเร็งระยะแรกจะเกิดที่ผิวของก้อนเนื้องอกเท่านั้น ยังไม่ลุกลามถึงเส้นเลือดฝอยเล็กๆ และเส้นน้ำเหลือง จึงเรียกมะเร็งระยะนี้ว่า ระยะไม่ลุกลาม และค่อยๆ พัฒนากลายเป็นชนิด ลุกลาม (Invasive Carcinoma) ในที่สุด การเกิดติ่งเนื้อ หรือเนื้องอกเล็กๆ  นี้มีลักษณะเป็นติ่งเนื้อยื่นออกมาจากผนังลำไส้ เรียกว่า Polyp แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดมีก้าน (Pedunculated Type) และ ชนิดไม่มีก้าน (Sessile Type)
 
การตรวจหาติ่งเนื้อ
การตรวจหาติ่งเนื้อ ที่มีขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร ให้แม่นยำ ปัจจุบันมี 2 วิธี คือ 
1. การส่องกล้องตรวจความยาวของลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เมื่อตรวจพบติ่งเนื้อ สามารถใช้เครื่องมือส่องกล้องตัดออกมาตรวจผลทางพยาธิวิทยาได้ ถ้าผลพยาธิวิทยาแสดงว่ายังไม่เป็นมะเร็ง ก็จะแนะนำให้ตรวจซ้ำอีกทุก 3 ปี แล้วแต่ชนิดและขนาดของ Polyp ถ้าผลตรวจออกมาเป็นมะเร็งชนิดลุกลาม (InvasiveCarcinoma) มีโอกาสสูงที่มะเร็งจะกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ภายนอกลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่วนนั้นออกโดยวิธีการผ่าตัด ซึ่งถ้าผลการตรวจหลังการผ่าตัดเป็นมะเร็งระยะที่ 1 ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดถึง 95% โดยไม่ต้องรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

2. การตรวจหาติ่งเนื้อขนาดเล็ก โดยการใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Colonography) การตรวจนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติใดๆ ต้องการมาตรวจคัดกรองโรค
      จุดเด่น 
ของการตรวจ คือ จะเห็นทั้งภายในและภายนอกลำไส้ รวมทั้งอวัยวะในช่องท้องทั้งหมดด้วย อีกทั้ง ยังไม่ต้องถูกส่องกล้องที่มีความยาวกว่า 1 เมตรเข้าไปทางทวารหนัก แต่จะใช้การเป่าลมเข้าไปทางทวารหนักแทน 
      ข้อด้อย คือ หากบังเอิญพบติ่งเนื้อต้องมาตรวจส่องกล้องอีกครั้งเพื่อตัดติ่งเนื้อออก

ปัจจุบันนี้ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก เป็นสาเหตุการตายอันดับสองของประชากรโลก รองจากมะเร็งปอด การป้องกันการเกิดโรคที่ดีที่สุดคือ การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนักอย่างสม่ำเสมอ โดยวิธีการคัดกรองโรค (Screening) ทุก 5 ปี ด้วยวิธีส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) หรือ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Colonography) เมื่อพบติ่งเนื้อ (Polyp) จะได้ทำการตัดออก  ไม่ปล่อยทิ้งเอาไว้จนติ่งเนื้อเจริญเติบโตกลายเป็นมะเร็ง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ ศัลยกรรม