ตรวจ MRI คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระดูกสันหลัง
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
24-มี.ค.-2565
title โรคที่มีความเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังค่อนข้างหลากหลาย อาทิ โรคกระดูกพรุน โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รวมถึงอาการบาดเจ็บต่างๆ การตรวจวินิจฉัยนอกจากการซักประวัติแล้ว การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่แพทย์เลือกใช้เพื่อวินิจฉัยอาการ และตำแหน่งของโรค ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติในร่างกายได้อย่างแม่นยำ

การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI คืออะไร?
การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI (Magnetic Resonance Imaging) คือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นำมาใช้ในการช่วยวิเคราะห์และวินิจฉับโรค เป็นเทคนิคการสร้างภาพทางการแพทย์ที่ใช้ในรังสีวิทยาเพื่อการตรวจทางกายวิภาค และสรีรวิทยาของร่างกายทั้งในด้านสุขภาพและโรคต่างๆ
การตรวจ MRI เป็นการใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุความเข้มสูงในการสร้างภาพเหมือนจริงของอวัยวะภายในต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะกระดูก กล้ามเนื้อ ด้วยคอมพิวเตอร์รายละเอียดและความคมชัดสูง ภาพที่ได้จึงจะชัดเจนเป็น 3 มิติ นอกจากนี้การตรวจ MRI ยังสามารถอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ เช่น สมอง หัวใจ ข้อกระดูกในร่างกาย เช่น ข้อเข่า ข้อไหล่ เมื่อสงสัยว่าจะมีการฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือกระดูกอ่อนภายในข้อ วิธีการตรวจนี้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ แก่ร่างกาย และไม่มีอันตรายจากรังสีตกค้าง

อาการแบบไหนที่ควรตรวจ MRI กระดูกสันหลัง

• ปวดคอ รุนแรง
• ปวดหลังเรื้อรัง นานหลายสัปดาห์
• ปวดหลังร่าวลงขา ชาลงแขนหรือลำตัว
• ขาลีบ แขนหรือขาอ่อนแรง
• แขนขากระตุก ควบคุมไม่ได้
• สมรรถภาพทางเพศลดลง
• ควบคุมปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้
ข้อดีของการทำ MRI กระดูกสันหลัง
การตรวจด้วยเครื่อง MRI สามารถตรวจพบความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว มีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค สามารถบอกขอบเขตของโรคได้ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาโรคต่อไปได้ โดยสามารถให้ภาพที่แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อได้อย่างชัดเจน ทำให้มีความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงกับการฉีดสารทึบรังสี ที่สำคัญการตรวจด้วยเครื่อง MRI ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อเพราะไม่ใช้คลื่นรังสี
ตรวจ MRI ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
ควรงดใช้เครื่องแต่งหน้าบางชนิดก่อนตรวจ เพราะอาจมีส่วนผสมของโลหะทำให้เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพได้ รวมถึงต้องนำโลหะต่างๆ ออกจากตัว เช่น ต่างหู เครื่องประดับ การทำ MRI ตรวจในช่วงบริเวณ สมองถึงกระดูกคอควรต้องถอดเอาเหล็กดัดฟัน ออกก่อน เพราะจะมีผลต่อความชัดของภาพ
กรณีการงดน้ำ หรืออาหาร ขึ้นอยู่แต่ละบุลคล หากมีความพร้อมไม่ต้องงดน้ำ และอาหารก่อนตรวจ แต่ในกรณีสำหรับผู้ป่วยบางรายที่ไม่ให้ความร่วมมือ และจำเป็นต้องได้รับยานอนหลับ หรือยาสลบ เช่น กรณีผู้ที่กลัวที่จะอยู่ในที่แคบๆ ไม่สามารถนอนในอุโมงค์ตรวจได้ ต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4 - 6 ชั่วโมง ก่อนตรวจ ระยะเวลาในการตรวจขึ้นอยู่กับอวัยวะที่จะตรวจเฉลี่ยประมาณ 30 – 40 นาที


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ