เทคนิคสนุก ฝึกสมองและความจำให้กลับมาฟิตอีกครั้ง
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
18-ต.ค.-2564
title สมองก็เหมือนอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ถ้าไม่ค่อยได้ใช้งาน หรือเจอเเต่ปัญหาเดิมเรื่องเดิมในแต่ละวัน ที่ใช้แค่ทักษะความเคยชินก็ทำได้เเล้ว หากปล่อยไปนานๆ สมองของเราอาจจะถดถอย และอาจจะเริ่มคิดช้า ทำช้า ขี้หลงขี้ลืม ลองใช้วิธีที่ช่วยฝึกสมอง และความจำให้กลับมาฟิตอีกครั้ง
  • ทำกิจวัตรประจำวันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด อย่างเคยแปรงฟันด้วยมือข้างขวา ก็เปลี่ยนมาเป็นแปรงฟันด้วยมือข้างซ้าย หรือลองหัดเขียนหนังสือด้วยมือข้างซ้าย แรกๆ ก็คงไม่ถนัดแต่เชื่อไหมว่าวิธีนี้จะช่วยให้สมองซีกที่ไม่ค่อยได้ออกแรงควบคุมการทำงานของร่างกายได้ขยับเขยื้อน ทำหน้าที่ของตัวเองบ้าง
  • มองของที่มองอยู่ทุกวันในแนวกลับหัว จากที่เคยมองเป็นแนวตั้ง ก็ลองเปลี่ยนมุมมองด้วยการมองแบบกลับหัวบ้าง สมองจะได้สื่อภาพ และตีความสิ่งที่ตาเห็นซับซ้อนมากขึ้น ได้ออกกำลังกายไปในตัว หมดกังวลเรื่องสมองฝ่อ
  • เล่นเกมทายเหรียญ ทดสอบความสามารถของสมองด้วยการใส่เหรียญไว้ในกระเป๋า ใช้มือคลำแล้วทายว่าเหรียญนั้นคืออะไร เนื่องจากสมองเราจะจำแนกสิ่งต่างๆ จากที่ตามองเห็น และวิเคราะห์ลักษณะสิ่งของจากการสัมผัส ซึ่งจะเกิดขึ้นตามกลไกของธรรมชาติเลยวนซ้ำไปมาจนกลายเป็นความเคยชิน วิธีนี้ก็จะช่วยเพิ่มรอยหยักในสมองได้
  • ลองเปลี่ยนเส้นทางใหม่ๆ ในการเดินทาง ถ้าต้องขับรถ หรือนั่งรถไปทำงานในเส้นทางเดิมทุกวันสมองก็จะเฉื่อยชาเพราะเคยชินกับเส้นทางนั้น การลองเปลี่ยนเส้นทาง จะช่วยให้สมองเราได้คิดมากขึ้น ได้มองสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เปลี่ยนไป และยังได้ฝึกสมองในการจำเส้นทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
  • เล่นเกมที่ต้องใช้ความคิด วิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ทายคำเพื่อทดสอบไอคิว ต่อจิ๊กซอว์ เล่น สแครบเบิ้ล ซูโดกุ เล่นหมากรุก หรือหมากฮอสกับเพื่อน เกมต่างๆ พวกนี้จะช่วยกระตุ้นสมองให้ทำงาน และมีพัฒนาการตลอดเวลา ช่วยลดภาวะการเกิดโรคอัลไซเมอร์
  • ดมกลิ่นหอมที่เปลี่ยนไปทุกอาทิตย์ เมื่อเวลาตื่นนอนมา เราก็จะดมแต่กลิ่นชา หรือกาแฟในทุกเช้า จนสมองจดจำกลิ่นเหล่านี้ได้ขึ้นใจ ลองเปลี่ยนกลิ่นกระตุ้นสมองแบบง่ายๆ แค่หาน้ำมันหอมระเหยกลิ่นสดชื่นมาวางไว้ที่หัวเตียง แล้วสลับเปลี่ยนกลิ่นทุกๆ อาทิตย์ เป็นการเปิดโอกาสให้สมองได้เรียนรู้ และจดจำกลิ่นแปลกใหม่
  • สลับของที่ใช้เป็นประจำ ข้าวของที่ใช้เป็นประจำ จำได้ขึ้นใจว่าอยู่ที่ไหน หลับตาเดินไปยังหยิบได้ ลองสลับที่วางดูเพื่อให้สมองได้จดจำ ได้เดิน หรือเอื้อมไปหยิบในที่ที่ต่างไปจากเดิม แค่นี้สมองและประสาทสัมผัสทุกส่วนก็ได้ใช้งานเพิ่มขึ้นแล้ว
  • อ่านหนังสือออกเสียง โดยปกติเราจะอ่านหนังสือในใจมาโดยตลอด สมองส่วนที่จะถูกเรียกใช้งานเมื่ออ่านหนังสือออกเสียงก็จะไม่มีโอกาสได้แสดงศักยภาพเลย ลองเปลี่ยนวิธีอ่านหนังสือเป็นอ่านออกเสียง ก็จะเป็นการสลับหน้าที่ให้สมองส่วนที่ถูกหลงลืมได้ทำงานบ้าง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ โรคระบบประสาทและสมอง