ภาวะซึมเศร้าในคนท้อง
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
19-ก.ค.-2564

ภาวะนี้ อาจเกิดขึ้นจากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความวิตกกังวลกับเรื่องรอบๆ ตัว ทั้งร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไป คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ที่มีภาวะอารมณ์แปรปรวนในช่วงตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ควรหาอะไรทำเพื่อเป็นการผ่อนคลาย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความเข้าใจของบุคคลรอบตัว อาทิ สามี ครอบครัว หรือเพื่อนๆ ที่ต้องใส่ใจให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิด

ภาวะซึมเศร้าในคนท้อง

Q:   คนท้องต้องเป็นโรคซึมเศร้าทุกคน หรือไม่?

A:    คนท้องไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้ากันทุกคน ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของฮอร์โมน และสรีระที่เปลี่ยนไปของแต่ละคนรวมถึงสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวด้วยว่าเอื้อต่อการเกิดความเครียดหรือไม่

Q:   สังเกตอาการอย่างไรบ้างว่าคุณแม่มีภาวะซึมเศร้า?

A:    เบื้องต้นจะสังเกตได้จากการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่ในการรับประทานอาหาร การพักผ่อนว่าปกติดีหรือไม่ อารมณ์มีความแปรปรวนฉุนเฉียวง่ายหรือไม่

Q:   หากคุณแม่มีอาการซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ควรทำอย่างไรบ้าง?

A:    เบื้องต้นครอบครัวควรมีการพูดคุยให้กำลังใจ ให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย พาไปเปลี่ยนบรรยากาศให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ

ภาวะซึมเศร้าในคนท้อง

Q:   ถ้าคุณแม่มีภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์จะส่งผลที่เป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์หรือไม่?

A:    ไม่มีผลโดยตรงต่อลูกในครรภ์ แต่ภาวะเครียดหรือซึมเศร้าอาจทำให้คุณแม่เบื่ออาหาร พักผ่อนน้อย ทำให้คุณแม่ร่างกายอ่อนแอ ลูกน้อยอาจกระทบจากตรงนี้ได้

Q:   มีเทคนิคอะไร ที่ช่วยลดอาการซึมเศร้าของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์?

A:    คุณแม่ควรคิดบวกมองโลกในแง่ดี ทำอะไรที่ทำให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลาย คุณพ่อ และคนอื่นๆ ในครอบครัวไม่ควรทำให้คุณแม่รู้สึกเครียด หรือวิตกกังวล เข้าอกเข้าใจ ตามใจบ้างเพื่อให้คุณแม่อารมณ์ดี หากิจกรรมทำร่วมกัน

Q:   โรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากสาเหตุอะไร?

A:    โรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปหลังคลอด หรือมีผลจากภาวะแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อคุณแม่ เช่น คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เหนื่อยจากการเลี้ยงลูก ลูกกวนทำให้พักไม่เพียงพอ น้ำหนักตัว การฟิตหุ่น เป็นต้น


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร.0-2271-7000 ต่อ Let's talk
(เบอร์ตรง Let's Talk) 0-2271-7244