ปวดหลัง ทำอย่างไรดี
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
29-ส.ค.-2565
“หลัง” เป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวส่วนบน กระดูกสันหลังประกอบไปด้วยกระดูก 24 ชิ้น แต่ที่เป็นส่วนสำคัญของอาการปวดหลังที่พบบ่อย คือ กระดูกสันหลังส่วนล่าง 5 ชิ้น ซึ่งต่อกับกระดูกกระเบนเหน็บ กระดูกสันหลังส่วนล่างนี้เชื่อมกันด้วยข้อต่อ และมีช่องระหว่างข้อให้ปลายประสาทผ่านออกมาเลี้ยงกล้ามเนื้อของเรา

5 สัญญาณอันตรายจากการปวดหลัง
1. มีอาการปวดหลังติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์
2. มีอาการชา หรืออ่อนแรงของขา
3. มีอาการปวดร้าวจากหลังลงไปที่ขา หรือเท้า
4. มีอาการปวดหลัง จากการได้รับอุบัติเหตุ
5. มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
อาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังจากการก้มหลังเพื่อยกของหนักจากพื้น หรือภายหลังจากการก้มๆ เงยๆ ขณะทำกิจวัตรประจำวัน หรือขณะทำงาน ถ้าคลำแผ่นหลังจะรู้สึกได้ว่ากล้ามเนื้อแผ่นหลังแข็ง บางรายอาจเดินตัวเอียง ถ้าได้นอนพักอาการจะทุเลาลงได้ ลักษณะเช่นนี้จะเกี่ยวข้องกับการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็นยึด หมอนรองกระดูกสันหลัง
อาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง มักจะปวดร้าวลงด้านหลังของต้นขา หรือด้านหน้าของต้นขา ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลังมานาน แล้วเริ่มมีอาการกำเริบรุนแรงขึ้นจนอาจทำให้ท่านั่ง ท่าเดินผิดปกติ เวลาไอ จามจะมีอาการกำเริบขึ้น บางรายต้องเดินตัวเอน จะลุก นั่ง นอนจะติดขัดไม่คล่องตัว ลักษณะเช่นนี้จะเกี่ยวข้องกับเส้นประสาท หรือรากประสาท ประสาทถูกกดทับ หรือจากการเคลื่อนของหมอนกระดูกเสื่อม หรือการหนาตัวของกระดูกทำให้ช่องทางผ่านของรากประสาทแคบลงกว่าปกติ สามารถตรวจดูง่ายๆ ว่ามีการระคาย หรือกดทับรากประสาท โดยให้ผู้ป่วยนอนราบจากนั้นค่อยๆ ยกขาขึ้นสูง โดยให้เข่าเหยียดตรง ถ้ามีการกดทับจะยกขาขึ้นได้เพียง 30 - 70 องศา (ทำมุมกับพื้นราบ) หรือจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวรุนแรง บางรายแค่ยกขาข้างหนึ่งสูงขึ้น 30 องศา เพื่อทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงขาอีกข้างหนึ่ง นั่นแสดงว่ารากประสาทถูกกดทับ อาการปวดจะรุนแรงมากน้อยขึ้นกับการเคลื่อนที่ของหมอนกระดูก หรือความแคบของช่องทางผ่านของรากประสาท

อาการปวดหลังร่วมกับอาการอ่อนแรง หรืออาการปวดร้าวลงขาเป็นระยะ 
ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาหลังจากเดินไประยะหนึ่ง ต้องนั่งพักจึงจะเดินต่อได้ หรือต้องนั่งยองๆ จึงจะหายปวดลักษณะเช่นนี้จะเกี่ยวข้องกับโพรงกระดูกสันหลังแคบกว่าปกติ ทำให้เกิดการกดทับของเนื้อเยื่อประสาทในโพรงสันหลัง อาการหลังมักจะค่อยเป็นค่อยไปไม่รุนแรง เวลานอนราบ สามารถยกขาในท่าเข่าเหยียดได้สูง กลุ่มอาการนี้มักพบในผู้สูงอายุ พบน้อยในคนหนุ่มสาว ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาบางรายอาจมีอาการมากขึ้น รุนแรงขึ้นจากกการกดทับที่เพิ่มมากขึ้น จนอาจทำให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ อุจาระได้ ผู้ป่วยมักจะเดินก้าวสั้นๆ ต้องมีการช่วยพยุงจนในที่สุดลงเอยด้วยการต้องนั่งรถเข็น

สาเหตุอื่นๆ ของอาการปวดหลัง

  • เกิดจากการบาดเจ็บที่รุนแรง (กระดูกข้อเคลื่อน)
  • เกิดจากความพิการแต่กำเนิด (ทำให้โครงสร้างของกระดูกสันหลังผิดแปลกไป)
  • อิริยาบถหรือท่าทางที่ไม่ถูกต้องหรือหลังเคล็ดเป็นภาวะที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้บ่อย เช่น นั่งทำงานในท่าก้มหลังเป็นเวลานาน การก้มตัวยกของหนัก หลังถูกกระแทก เป็นต้น
  • การเสื่อมจากการใช้งานหนักและจากอายุที่มากขึ้น ทำให้โครงสร้างของงกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพไปกระดูกข้อต่อ และเอ็นยึดจะหนาตัว ความยืดหยุ่นลดลง
  • หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน มักเกิดอาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน
  • เป็นเนื้องอก หรือมะเร็งของกระดูกสันหลัง
  • โรคทางระบบเมตาบอลิซึม (โรคต่อมธัยรอยด์ โรคเบาหวาน ทำให้กระดูกกร่อนบางเร็วกว่าปกติ)
  • การอักเสบของกระดูกสันหลังทำให้กระดูกสันหลังเชื่อมติดแข็งเป็นชิ้นเดียว เป็นภาวะการอักเสบของกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคน
  • ภาวะเครียด อาจส่งผลให้มีการเกร็งของกล้ามเนื้อหลังตลอดเวลาทำให้ปวดหลังได้
  • สาเหตุอื่น เช่น โรคของอวัยวะบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาบริเวณหลัง ได้แก่ โรคไต โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก โรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก หรือการกระจายของมะเร็งมาที่กระดูกสันหลัง

แนวการรักษา

รักษาอาการปวดหลังแบบไม่ผ่าตัด ประกอบด้วยการรับประทานยา การทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยลดอาการปวด บรรเทาอาการอักเสบ การฉีดยาเพื่อระงับความปวดแบบเฉพาะจุด รวมถึงปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตัว เช่น หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้ปวดหลังบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและแผ่นหลัง งดสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ งดอาหารมัน หวาน หรือรสจัด การรักษาปวดหลังด้วยวิธีผ่าตัด คือ การขจัดเอาสิ่งแปลกปลอมอันหมายถึงเนื้อหมอนรองกระดูกสันหลังที่เคลื่อนผิดที่ และกระดูกที่งอกหนาขึ้น กดทับเนื้อเยื่อประสาทเพื่อให้เส้นประสาทเป็นอิสระจากการกดทับ รวมถึงจัดแนวกระดูกสันหลังให้เป็นแนวปกติ ยึดตรึงกระดูกด้วยวัสดุดาม และการเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง

ท่าทางที่ถูกสุขลักษณะ ช่วยห่างไกลอาการปวดหลัง

  • ควรนั่งเก้าอี้สูงพอดีให้เท้าทั้ง 2 ข้างแตะพื้น ชนิดมีพนักพิงเพื่อรับกับช่วงเอวที่เว้าด้านหลัง นั่งหลังตรง
  • ที่นอนควรแข็งพอสมควร เมื่อนอนไม่ยุบตามสรีระ
  • การยืนให้ขาข้างใดข้างหนึ่งงอเข่าเล็กน้อย ให้อยู่ในท่าพักขา และสลับเสมอ
  • การเดิน ผู้หญิงไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงมากจะปวดหลัง และควรเดินตัวตรง
  • การยกสิ่งของ ย่อเข่า และสะโพกเพื่อหยิบสิ่งของ ไม่ใช้วิธีก้มหยิบ
  • การหยิบของในที่สูง ควรใช้เก้าอี้ หรือบันไดที่มั่นคงเพื่อหยิบ แทนการเขย่งเอื้อมหยิบของ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ