เบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดจากการที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดจากปัจจัยจากรก หรืออื่นๆ และตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอกับความต้องการได้ ซึ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่พบระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. หรือมีค่าน้ำตาลสะสมในเลือด 3 เดือน( HbA1C) มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5 ในไตรมาสที่ 1 จะจัดอยู่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอยู่เดิมอยู่แล้วก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ ชนิดที่ 2 หรืออาจจะเป็นเบาหวานชนิดอื่นๆได้ โดยการวินิจฉัยแยกโรคว่าเป็นเบาหวานชนิดใด มีความสำคัญต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เหมาะสม
หลักในการรักษาจะพยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งหญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่วนใหญ่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ โดยการคุมอาหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเดียว จะพิจารณาให้ยาฉีดอินซูลินในรายที่ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่า 105 มก./ดล. ตั้งแต่แรกวินิจฉัย หรือในรายที่ควบคุมอาหารแล้วระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารยังมากกว่า 95 มก./ดล.
ยาฉีดอินซูลินเป็นยาที่แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรก ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ โดยอาจให้วันละ 1 - 2 ครั้ง โดยใช้ฮิวแมนอินซูลินออกฤทธิ์นานปานกลาง ร่วมกับฮิวแมนอินซูลินออกฤทธิ์สั้นหรืออินซูลินอะนาล็อกออกฤทธิ์เร็ว
ส่วนยารักษาเบาหวานชนิดอื่นๆ (ชนิดเม็ดรับประทาน และชนิดยาฉีดที่ไม่ใช่อินซูลิน) ยังขาดข้อมูลความปลอดภัยในระยะยาวจึงไม่ได้เป็นทางเลือกสำหรับการรักษา อีกทั้งยาเบาหวานเมทฟอร์มิน (Metformin) และยาไกลเบนคลาไมด์ (Gglibenclamide) สามารถผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น การจะเริ่มใช้ยาจึงมีความสำคัญขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละรายและดุลยพินิจของแพทย์
Reference: