สังเกตอย่างไร เมื่อเจ้าตัวเล็กเสี่ยงเป็นสมาธิสั้น
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
20-ธ.ค.-2565
       โรคสมาธิสั้น หรือ ภาวะสมาธิสั้น (Attention-Deficit Hyperactivity Disorder; ADHD) เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองบางส่วน ส่งผลให้ผู้ป่วยแสดงอาการออกมา โดยแบ่งได้เป็น 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ ขาดสมาธิ, อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น โดยอาการเหล่านี้จะต้องเป็นอาการที่ไม่สัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็กในวัยนั้น เนื่องจากเราอาจพบอาการเหล่านี้ในเด็กเล็กได้
       ทั้งนี้เป็นผลมาจากการพัฒนาทางสมองของเด็กเล็กที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่นั่นเอง 
โรคสมาธิสั้นเป็นโรคเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆ จึงมักแสดงอาการของโรคก่อนอายุ 12 ปี โดยส่วนมากมักจะเริ่มพบตั้งแต่วัยอนุบาล และพบมากที่สุดในวัยประถม เพราะเป็นวัยที่เด็กจะต้องเข้าโรงเรียน และต้องมีสมาธิจดจ่อในคาบเรียน ทำงานส่ง หรือนั่งนิ่งๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เด็กที่มี ปัญหาสมาธิสั้นแสดงอาการได้ชัดขึ้น 
       
นอกจากนั้นยังพบได้ในวัยอื่นๆ เช่นกัน อาทิ ในวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผลสืบทอดมาตั้งแต่ในช่วงวัยเด็กและยังเป็นอยู่ในช่วงวัยดังกล่าว

วิธีสังเกตอาการของโรคสมาธิสั้น
ผู้ปกครองหรือคุณครู สามารถสังเกตอาการของเด็กๆ ว่าเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ ดังนี้
       1. ขาดสมาธิ เด็กจะไม่สามารถควบคุมสมาธิให้จดจ่อในระยะเวลาหนึ่งอย่างต่อเนื่องได้ มักจะมีอาการวอกแวก ขาดความตั้งใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่ต้องการความคิด โดยเด็กจะหลีกเลี่ยงไม่อยากทำ หรือทำได้เพียงไม่นาน ส่งผลให้งานออกมาไม่เรียบร้อย ขี้ลืม ทำของหายบ่อยๆ ใจลอย เหม่อลอย หรือเมื่อมีคนมาพูดด้วยก็ดูเหมือนไม่ได้ฟัง

       2. ซน อยู่ไม่นิ่ง อาการเหล่านี้เป็นอาการที่เห็นได้ชัด คุณพ่อคุณแม่จะตรวจสอบอาการได้ง่าย ลูกจะมีอาการซนเยอะ นั่งไม่ติด ยุกยิก ต้องขยับตัว นั่งนิ่งๆ ไม่ได้ เล่นผาดโผน ชอบปีนป่าย หรือบางครั้งก็แสดงอาการออกมาทางด้านการพูด พูดมาก หรือเล่นเสียงดัง เป็นต้น
       3. หุนหันพลันเล่น จะสังเกตได้จากเด็กมักจะใจร้อน รอคอยไม่ได้ พูดแทรก หรือบางครั้งผู้ถามยังถามไม่จบก็พูดคำตอบแทรกออกมาเลย เป็นต้น

วิธีรักษา

การรักษาในปัจจุบัน มี 2 วิธีการรักษา ได้แก่ แบบใช้ยา และไม่ใช้ยา ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดจะเป็นการผสานทั้ง 2 รูปแบบเข้าด้วยกัน
       1. แบบใช้ยา ใช้ยาในกลุ่ม Psychostimulants มีชื่อว่า Methylphenidate (เมทิลเฟนิเดต) หรือที่คุ้นหูกันในชื่อทางการค้าว่า Ritalin (ริทาลิน) หรือ Concerta (คอนเซอต้า) ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์เพิ่มสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยให้เด็กมีสมาธิ จดจ่อมากขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบขึ้น และสามารถควบคุมตัวเอง รวมถึงควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และเมื่อเด็กสงบมากขึ้น ก็ทำให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้น และมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี โดยการใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์
       2. แบบไม่ใช้ยา สามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครอง และคุณครู เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก ถ้าผู้ปกครอง และคุณครูเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอาการของโรค เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ไม่ใช่การแกล้งทำหรือตั้งใจทำ ก็จะช่วยเหลือเด็กได้ตรงจุด หรือให้อภัยเวลาที่เขาทำอะไรผิดพลาดได้

       นอกจากนั้นยังมีวิธีการรักษาแบบอื่นๆ อีก เช่น การปรับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอาจต้องการมุมสงบในการทำงาน ต้องจดจ่อ และมีสมาธิ การปรับพฤติกรรม ปรับเทคนิคการเลี้ยงดู เช่น ใช้แรงเสริมทางบวก ชมเมื่อเด็กทำได้ดี หรือถ้าเด็กทำไม่ดี ก็มีการลงโทษที่เหมาะสม ไม่รุนแรงเกินไป ก็จะช่วยให้อาการสมาธิสั้นดีขึ้นได้เช่นกัน
พญ.สุชาวดี พงศ์ธนวิสุทธิ์
จิตแพทย์เด็กและผู้ใหญ่
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ Let's Talk