ปัญหาทางอารมณ์ และพฤติกรรมในเด็กวัยรุ่น ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
25-ก.ย.-2566
       ทุกวันนี้เราเริ่มได้ยินคำว่าโรคจิตเวชมากขึ้น หลายคนอาจเข้าใจว่าโรคจิตเวชเป็นโรคที่เกิดขึ้นและเป็นอันตรายกับผู้ใหญ่มากกว่า แต่ที่จริงแล้วภาวะความผิดปกติทางจิตเวชในเด็กอันตรายและน่ากลัวไม่น้อยไปกว่าโรคที่เกิดจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย เพราะโรคจิตเวชบางโรค ทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจ ใช้ความรุนแรง ทำสิ่งที่ผิดต่อจริยธรรม และอาจเป็นอันตรายถึงขั้นทำร้ายตัวเอง
ปัญหาทางอารมณ์ และพฤติกรรมในเด็กและวัยรุ่นที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม มีดังนี้
       • ชอบใช้ความรุนแรง (Rage) ปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการเลี้ยงดู เลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว การพัฒนาของสมองที่ผิดปกติ และความผิดปกติทางด้านจิตใจ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ซึ่งทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เมื่อมีคนขัดใจก็พร้อมที่จะระเบิดอารมณ์ และควบคุมตัวเองไม่ได้
       สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: เลี้ยงดูลูกด้วยความเอาใจใส่ตั้งแต่แรกเกิด เพราะการแสดงความรัก และความใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ลูกมีสภาพจิตใจที่แข็งแรง ไม่ถูกกระทบได้ง่าย
       • ชอบทำร้ายตัวเอง (Deliberate Self-Harm) เกิดจากเด็กรู้สึกโกรธ รู้สึกไร้ตัวตน ไม่มีคนรัก และต้องการแสดงออกกับพ่อแม่ แต่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ จึงต้องหันกลับมาทำร้ายตัวเอง
       สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: ที่สำคัญคือ พ่อแม่ก็ต้องเป็นที่พึ่งให้ลูก รับฟังความรู้สึกลูกโดยไม่ตัดสินในยามที่ลูกรู้สึกไร้คุณค่า ไร้ความหมาย และไร้ตัวตน นอกจากนี้ ควรพาลูกไประบายความรู้สึกผ่านการเล่นกีฬา ให้ได้ทำกิจกรรมที่ได้ออกแรง เพื่อผ่อนคลายความเครียด
       • ชอบพูดโกหก (Liar) สาเหตุของการโกหก เกิดขึ้นได้ทั้งจากการกลัวถูกทำโทษ และสภาพจิตใจผิดปกติ
       สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกไว้วางใจ เมื่อลูกทำผิดไม่ควรตำหนิ หรือดุด่าให้ลูกรู้สึกกลัว แต่ให้อธิบายด้วยเหตุและผล ทำให้ลูกกล้าพูดความจริงมากยิ่งขึ้น
       • ชอบหยิบฉวย (Kleptomania) อาการของโรคนี้ เด็กไม่สามารถยับยั้งใจต่อแรงกระตุ้น ที่จะลักเล็กขโมยน้อยได้ แม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่ใช่ของที่มีราคา เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการทรัพย์สินเงินทอง แต่เกิดจากไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น ขโมยที่หนีบกระดาษ หรือผ้าเช็ดหน้า
       สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กรู้จักเหตุผล กฎ ระเบียบ รับผิดชอบต่อการกระทำของตน และคิดถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำ รวมถึงให้กำลังใจ และเชื่อว่าลูกจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้
       • มีพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ (Imitation Behavior) ลูกจะสังเกต จดจำ และลอกเลียนแบบพฤติกรรม เมื่อเห็นพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ยกตัวอย่าง เช่น การยกแขน ยิ้ม หรือเลียนแบบเสียงจากการ์ตูนที่ชื่นชอบ ทำให้ใช้ภาษาที่ผิดแปลก ขาดปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว เอาแต่ใจ หรือก้าวร้าวเมื่อถูกขัดใจ
       สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: เริ่มจากพ่อแม่ เพราะเป็นเหมือนกระจกเงาให้กับลูก ถ้าพ่อแม่ทำตัวน่ารักลูกก็จะปฏิบัติตาม รวมถึงการเลือกสื่อให้ลูกดู พ่อแม่ควรคัดกรองสื่อที่ไม่ใช้ความรุนแรง
       • หลีกหนีสังคม (Avoidant Personality Disorder) เด็กจะกลัวการถูกปฏิเสธ ถูกทอดทิ้งจากคนรอบตัว ทั้งที่อยากมีเพื่อน แต่กลัวถูกปฏิเสธ เลยขาดความมั่นใจ และมักมองตนเองในแง่ลบ ไม่เห็นคุณค่าตนเอง คิดว่าตนไม่เก่ง
       สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: คุณพ่อ คุณแม่ต้องเพิ่มความมั่นใจในตัวเองให้กับลูก โดยการชื่นชมในสิ่งที่เด็กทำได้ดี เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองทำอะไรได้ด้วยตัวเองจนสำเร็จ
       • โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) เป็นโรคที่พบได้บ่อย และมีความรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจเป็นอันตรายได้ โดยอาการของโรคทำให้เด็กเศร้า ไม่มีความสุข กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ในรายที่อาการรุนแรง อาจมีการทำร้ายตัวเองด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลต่อชีวิตการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้หรือสัมพันธภาพกับผู้อื่น
       สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: หางานอดิเรกให้ลูกทำ รวมถึงตั้งเป้าหมายเล็กๆ ให้ลูกทำ เพื่อบรรลุเป้าหมาย และเกิดความมั่นใจในตัวเอง นอกจากนี้ ควรหาเวลาพาลูกไปออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ทำให้มีความสุขได้ อีกทางที่สำคัญ คือ พยายามเข้าใจลูก รับฟัง ให้กำลังใจ และเป็นที่พึ่งให้ลูกได้

       โรคต่างๆ เหล่านี้ คุณพ่อ คุณแม่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษา และเยียวยาให้ลูกกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ด้วยการยอมรับว่าลูกป่วย หลังจากพาไปพบจิตแพทย์แล้วก็ควรดูแลอาการ และปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูไปในทางที่ดีขึ้น

พญ.สุชาวดี พงศ์ธนวิสุทธิ์
จิตแพทย์เด็กและผู้ใหญ่

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ Let's talk