จะอุดฟันทั้งที เลือกวัสดุแบบไหนดีที่ตอบโจทย์
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
20-พ.ค.-2565
         การอุดฟัน เป็นการทดแทนลักษณะโครงสร้างของฟันที่สูญเสียไป ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากรอยโรค ฟันผุ ฟันแตก บิ่นจากอุบัติเหตุ ปรับเปลี่ยนรูปร่าง หรือปรับเปลี่ยนสี เพื่อป้องกันการดำเนินต่อของรอยโรคฟันผุ และลดอาการเสียว หรือปวด เพื่อความสวยงาม เพิ่มประสิทธิภาพในการพูดคุย และประโยชน์ของการใช้งานในระยะยาว
          แต่ฟันบางซี่อาจใช้ระยะเวลานานในการอุดขึ้นอยู่กับโครงสร้างฟันที่สูญเสีย ตำแหน่งของซี่ฟัน และความอดทนของผู้ป่วย ถ้าเป็นซี่ที่อยู่ลึกในช่องปาก หรือมีรอยโรคฟันผุที่ลึกทันตแพทย์อาจจะต้องใช้เวลามากกว่าปกติในกรณีที่โครงสร้างฟันหายไปในปริมาณมาก หรือผู้ป่วยมีการกัดสบที่หนัก

ทันตแพทย์จะทำการรักษาฟันซี่นั้นๆ โดยทำการบูรณะทางอ้อม เช่น การทำครอบ อินเลย์ หรือออนเลย์ เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของฟันซี่นั้นไว้

ขั้นตอนการอุดฟัน

          1. ตรวจบริเวณที่พบรอยผุ จุดบกพร่อง หรือโครงสร้างที่สูญเสียไป สอบถามผู้ป่วยถึงอาการของฟันซี่ที่จะทำการบูรณะ นอกจากนี้ อาจทำการเอกซเรย์ฟันซี่ดังกล่าว เพื่อประเมินสภาพของโพรงประสาทฟัน

          2. วางแผนการรักษา โดยคำนึงถึงตำแหน่ง การใช้งาน ลักษณะของฟัน และความพึงพอใจของผู้ป่วย

          3. ทำการกรอแต่งฟันเพื่อเตรียมพร้อมในการบูรณะ ถ้าหากลักษณะของโพรงฟันมีขอบเขตที่ลึกมากใกล้โพรงประสาทฟัน หรือผู้ป่วยมีอาการเสียวในขั้นตอนการทำ ผู้ป่วยสามารถแจ้งทันตแพทย์ให้ใส่ยาชาเพื่อลดอาการเสียวฟันได้

          4. เมื่อรอยผุหมดแล้ว ทันตแพทย์จะทำการใส่วัสดุบูรณะเพื่อทดแทนฟัน ถ้าเป็นวัสดุสีเหมือนฟันจะมีขั้นตอนการฉายแสงเพื่อให้วัสดุแข็งตัวเต็มที่

          5. ทำการกำจัดวัสดุส่วนเกินทางด้านบดเคี้ยว โดยการให้เคี้ยวกระดาษสีฟ้า แดง เพื่อทราบตำแหน่งที่ต้องกรอแต่ง บริเวณที่มีวัสดุเกินขอบเขตทางด้านบดเคี้ยว

          6. ทำการขัดแต่งเพื่อความสวยงาม และเรียบมัน ลดการติดของเศษอาหาร และเพิ่มอายุการใช้งาน

ชนิดของวัสดุอุดฟัน

1.วัสดุสีเหมือนฟัน หรือเรซินคอมโพสิตเป็นวัสดุที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพื่อใช้ในการทดแทนโครงสร้างฟันที่หายไป
  • ข้อดี: มีสีที่คล้ายคลึงกับฟันธรรมชาติ ยึดติดกับฟัน และทำการซ่อมแซมได้ง่าย สูญเสียเนื้อฟันน้อยในการกรอฟัน
  • ข้อเสีย: มีข้อจำกัดในกรณีที่สูญเสียเนื้อฟันในปริมาณมาก ผู้ป่วยที่มีการบดเคี้ยวรุนแรงอาจมีการแตกหักได้ มีขั้นตอนในการบูรณะที่ละเอียดกว่า
2.วัสดุสีโลหะ หรือ อะมัลกัม ถึงแม้ว่าสีของวัสดุจะแสดงออกมาให้เห็นสีโลหะปราศจากความสวยงาม แต่อะมัลกัมนั้นเป็นวัสดุที่นำมาใช้ในการบูรณะฟันเป็นเวลายาวนานหลายปี
  • ข้อดี: มีความแข็งแรง รับแรงบดเคี้ยวได้ดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า
  • ข้อเสีย: สีไม่เหมือนฟันธรรมชาติ ห้ามใช้งานภายใน 24 ชั่วโมงเพราะต้องรอการแข็งตัวของวัสดุ และไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่แพ้โลหะ
  • อย่างไรก็ตาม ในการเลือกใช้ประเภทของวัสดุบูรณะฟันก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ลักษณะโพรงฟันที่ต้องทำการทดแทน การใช้งาน ตำแหน่งในช่องปาก เเละความพึงพอใจของผู้ป่วย และต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทันตแพทย์ด้วยเช่นกัน

การดูแล
        หลังจากการอุดฟันไปแล้ว หากผู้ป่วยมีคำถาม หรือข้อสงสัยก็สามารถกลับมาพบทันตแพทย์ท่านเดิมได้เพื่อขอคำแนะนำ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือของผู้ป่วยในการมีส่วนร่วมต่อการดูแลรักษาฟันที่บูรณะไปเพราะหากละเลยไม่ทำความสะอาดด้วยวิธีที่เหมาะสม หรือใช้แรงบดเคี้ยวที่หนัก เช่น เคี้ยวอาหารแข็ง หรือกัดแทะสิ่งของจะมีผลต่ออายุของวัสดุบูรณะได้

การดูแลสุขภาพช่องปาก

          นอกจากต้องมาพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 3 - 6 เดือนเพื่อทำการขูดหินปูนแล้ว ควรมาตรวจว่ามีปัญหาสุขภาพช่องปากที่เกิดขึ้นใหม่หรือไม่ สังเกตพฤติกรรมการทำความสะอาดและดูแลสภาพช่องปาก มีฟันผุเพิ่มขึ้นไหม เพื่อทำการรักษาได้ทันก่อนรอยโรคลุกลามถึงขั้นรุนแรง เพราะปัญหาดังกล่าวอาจเรื้อรัง รุนแรงหากไม่ได้มาพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เช่น จากการมีฟันผุธรรมดาที่สามารถอุดได้ในช่วงแรก ถ้าละเลยการตรวจฟันรอยผุซี่นั้นอาจลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ไม่สามารถอุดฟันเพียงอย่างเดียว ต้องทำการรักษารากและครอบฟันซึ่งเป็นการเสียเวลา และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ขั้นตอนการดูแลสุขภาพฟัน


          1. ควรแปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละสองครั้ง ต่อวัน (ดีที่สุด คือ หลังมื้ออาหาร เช้า กลางวัน เย็น)

          2. ใช้ไหมขัดฟันในการทำความสะอาดซอกฟัน เนื่องจากมีบางตำแหน่งที่แปรงไม่สามารถทำความสะอาดลงไปถึงได้

          3. ใช้อุปกรณ์เสริมเพิ่มในบางกรณี เช่น แปรงซอกฟัน

          4. ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์

          5. หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทที่รับประทาน ได้แก่ อาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้เกิดรอยโรคฟันผุ

          6. อาหารรสเปรี้ยว อาจทำให้ฟันกร่อน สึก เกิดอาการเสียวฟันได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ ทันตกรรมและรากเทียมดิจิตอล