ทำความเข้าใจ..ก่อนเปลี่ยนข้อเข่า
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
05-ก.ค.-2565
title       กี่ปีมาแล้ว ที่เราได้ยินคุณแม่บ่นว่าปวดเข่า ทั้งกินยาแก้ปวด ทั้งทายา ก็ยังมีอาการปวดเข่ากำเริบเป็นระยะ โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินมากๆ หรือนั่งงอเข่านานๆ ถึงแม้โรคข้อเข่าเสื่อมจะเป็นโรคที่ผู้สูงวัยโดยมากแทบหนีไม่พ้น บางคนอาจเป็นมาก เป็นน้อย เป็นช้า หรือเป็นเร็วขึ้นอยู่กับการใช้งานข้อเข่ามาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว แต่เมื่อได้เริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อมแล้วล การใช้ชีวิตประจำวันก็ไม่สะดวกรวดเร็วได้ดั่งใจเหมือนเดิม
     
      อาการข้อเข่าเสื่อม นั้นเกิดจากความเสื่อมของผิวข้อ ทำให้กระดูกข้อเสียดสีกันเวลาง่อเข่าจนเกิดเป็นความเจ็บปวดทรมาน หากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างการใช้ยาบำรุงผิวข้อ ฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าลดการเสียดสี หรือการล้างข้อให้ผิวเรียบขึ้น ผู้สูงวัยก็ยังยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าได้ไปอีกนาน แต่หากไม่เข้ารับการรักษาและปล่อยไว้จนข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง จนเจ็บปวดทรมาน อาจทำให้ผู้สูงวัยไม่อยากเดินเพราะทนความเจ็บปวดไม่ไหวก็เป็นได้ การจะรักษาโรคเข่าเสื่อมขั้นรุนแรงให้หายนั้น ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

      การผ่าตัดข้อเข่าเทียม คือ การรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรงโดยการนำเอาส่วนผิวข้อเข่าที่เสื่อมแล้วออกไป แล้วทดแทนด้วยผิวข้อเข่าเทียมทั้งหมด เป็นทางเลือกการผ่าตัดที่ให้ผลการรักษาที่ดี เป็นที่พึงพอใจและมีความคุ้มค่าในการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยโรค “ข้อเข่าเสื่อม” หายจากอาการปวด ขากลับมาตรง เดินได้ดีขึ้น หายจากสภาพข้อเข่าโก่งงอและงอเข่าได้มากขึ้น รวมถึงผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่มีข้อจำกัด และที่สำคัญที่สุดสามารถใช้ข้อเข่าเทียมนี้ไปได้ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องมาทำการผ่าตัดแก้ไขอีก
ส่วนประกอบของข้อเทียมประกอบด้วยส่วนใหญ่ 3 ส่วน คือ
ฝาครอบกระดูกต้นขา (Femoral Component) ทำจากโลหะกลุ่มโครเมียม (Cobalt-Chrome alloy) ซึ่งเป็นโลหะที่เหมาะสมที่สุดในการทำผิวข้อ มีคุณสมบัติแข็ง มัน วาว ไม่เป็นสนิม ไม่สึกกร่อนง่าย ไม่เกิดประจุไฟฟ้า และไม่ก่อให้เกิดสารมะเร็ง มีลักษณะเป็นฝาครอบที่มีรูปร่างภายนอกเหมือนกับกระดูกผิวข้อ เมื่อใส่เข้าไปแล้วจะทำให้มีลักษณะภายนอกคล้ายผิวข้อของกระดูกต้นขาปกติ
แป้นกระดูกหน้าแข้ง (Tibial Component) เป็นแป้นโลหะที่ทำจากโลหะกลุ่มไททาเนียม (Titanium Alloy) ซึ่งเป็นโลหะที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นตัวกลางถ่ายน้ำหนักจากข้อเทียมไปยังกระดูก เนื่องจากมีคุณสมบัติความแข็งที่ใกล้เคียงกับกระดูกมนุษย์ ไม่เป็นสนิม ไม่เกิดประจุไฟฟ้า และไม่ก่อให้เกิดสารมะเร็ง เป็นแป้นสำหรับวางบนกระดูก และมีเดือยคล้ายเสาเข็มเพื่อยื่นเข้าไปในโพรงกระดูกหน้าแข้ง
หมอนรองข้อเทียม (Polyethylene Tibial Insert) เป็นสารโพลีเมอร์ (Ultrahigh Molecular Weight Polyethylene) ที่มีเนื้อแข็งมาก และเป็นระดับที่ใช้ในการแพทย์เท่านั้น มีความบริสุทธิ์ของสารโพลีเมอร์สูงสุด ใช้เป็นผิวสัมผัสของข้อ ทำหน้าที่ทั้งเป็นผิวข้อ และหมอนรองข้อ


คุณสมบัติของโลหะอัลลอยด์
       เป็นสารที่มีความบริสุทธิ์สูงสำหรับใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น มักเป็นโลหะผสมหลายชนิดขึ้นกับวัตถุประสงค์การใช้ เช่น ใช้เป็นผิวข้อเทียม หรือใช้เป็นแป้นรับน้ำหนัก นอกจากนี้ บริเวณที่เป็นผิวข้อสามารถทนการขีดข่วนได้ดี และไม่ผิดรูปทรงได้ง่าย และที่สำคัญคือ สามารถผ่านเข้าเครื่องเอ็กซ์เรย์แม่เหล็กไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย แต่ในประเทศไทย นิยมเรียกโลหะผสมเหล่านี้เป็นชื่อง่ายๆ ว่า ไททาเนียม (Titanium) หมายถึงโลหะที่มีลักษณะเบา ไม่เป็นสนิม ไม่ก่อมะเร็ง เข้ากับร่างกายมนุษย์ได้ดี นอกจากนั้นยังมีวัสดุอื่นๆ เช่น Ceramic สำหรับผู้ที่แพ้เหล็ก Tantalum Trabecular Metal ซึ่งใช้ในเคสยากๆ

      ปัจจุบันการผ่าตัดข้อเข่าเทียม ได้มีการนำเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์หรือ Computer Navigator มาใช้เพื่อช่วยให้การวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียมแม่นยำมากขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์จะทำการจำลองภาพ 3 มิติ ของข้อเข่าผู้ป่วยให้แพทย์เห็นในขณะทำผ่าตัด ให้ข้อมูลอย่างละเอียดในการวางแผนการตัดแต่งผิวกระดูกข้อเข่า แพทย์จึงสามารถวางตำแหน่งผิวข้อเข่าเทียมไปบนผิวกระดูกข้อเข่าของผู้ป่วยให้อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุด ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ใช้การผ่าตัดข้อเข่าเทียมโดยใช้ Computer Navigator สามารถช่วยให้การวางตำแหน่งข้อเทียมแม่นยำถึง 97% ลดภาวะแทรกซ้อน แผลผ่าตัดเล็กลง ช่วยทำให้ข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น และสามารถปรับสมดุลของกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าในขณะทำผ่าตัดได้ละเอียดแม่นยำขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยใช้งานข้อเข่าเทียมหลังผ่าตัดได้ใกล้เคียงธรรมชาติ

      เพื่อลดความกลัว ของผู้เข้ารับการผ่าตัดข้อเข้าเทียมคือ กลัวความปวดที่รุนแรงหลังการผ่าตัด จนไม่อยากลุกเดิน หรือทำกายภาพตามคำสั่งแพทย์ การนำเทคนิค “Adductor Canal Block” มาใช้ร่วมด้วย

คือการระงับเส้นประสาทในช่องแอดดั๊กเตอร์ เพื่อลดระดับความปวด สามารถระงับเฉพาะความรู้สึกเพียงอย่างเดียวได้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นการผ่าตัดที่ให้เกิดอาการปวดค่อนข้างรุนแรง หลังการผ่าตัดคนไข้หลายรายมักไม่ยอมก้าวเดินเพื่อทำกายภาพ ดังนั้นการระงับปวดที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน หลุดพ้นอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ โดยที่กล้ามเนื้อที่ขาไม่อ่อนแรง ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวสามารถลุกเดินได้เร็ว หลังการผ่าตัดสามารถเดินด้วย Walker แบบไม่ต้องทนเจ็บปวดได้ สามารถยกเข่า ลุกเดินได้ ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดหลังการผ่าตัดหากไม่ยอมทำกายภาพได้ ลดการนอนติดเตียง ลดระยะเวลาในการพักฟื้นในโรงพยาบาล
      ปัจจุบันมีการพัฒนา ใช้เครื่องอัลตราซาวด์หาตำแหน่งเส้นประสาทโดยวิสัญญีแพทย์ ก่อนที่จะให้ยาระงับปวด ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการทำ Adductor Canal Block ยังสามารถลดปริมาณการใช้ยาระงับปวด และระดับความปวดขณะงอเข่า สามารถเดินได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช่ Adductor canal block อย่างไรก็ตามการทำ Adductor Canal Block จะพิจารณาใช้ตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย โดยได้รับการดูแลจากวิสัญญีแพทย์อย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาการผ่าตัด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ