ข้อสะโพกเสื่อม ..ในผู้สูงอายุ
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
04-เม.ย.-2565
โรคข้อสะโพก ที่พบบ่อยในคนไทย ได้แก่ ข้อสะโพกเสื่อมตามวัย (Osteoarthritis: OA) ข้อสะโพกผิดปกติแต่กำเนิด เจริญเติบโตไม่เต็มที่ (Developmental Hip Dysplasia: DDH) ข้อสะโพกขาดเลือดไปเลี้ยงที่กระดูกหัวของข้อสะโพก (Avascular Necrosis) โรคข้อสะโพกจากโรครูมาตอยด์ที่สัมพันธ์กับการใช้สารสเตรียรอยด์เป็นเวลานาน ปริมาณการดื่มเหล้า ความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งจะพบในวัย 40 - 65 ปี
โรคข้อเสื่อมที่เกิดกับข้อสะโพก นับเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เมื่ออายุน้อยผิวข้อจะมีผิวเรียบ มันวาว  แต่เมื่ออายุมากขึ้นผิวข้อจะเสื่อมสภาพ รวมถึงเยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็นรอบข้อ และกระดูกที่ประกอบเป็นข้อ  เมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้นมักมีน้ำหนักตัวที่มากขึ้น และเริ่มมีโครงสร้างภายในข้อไม่ปกติ จึงเกิดความผิดปกติภายในข้อ เช่น
  • ผิวของข้อสะโพกซึ่งเป็นกระดูกอ่อนเริ่มสึกหรอ ทำให้ผิวข้อไม่เรียบ การเคลื่อนไหวข้อ มีอาการติดขัด ฝืด หรือเสียงดังคล้ายกระดาษทรายถูกัน
  • การกระจายการรับน้ำหนักของกระดูกผิวข้อเริ่มผิดปกติ บางบริเวณเป็นมากขึ้น บางบริเวณลดน้อยลง ทำให้การรับน้ำหนักผิดปกติ มีอาการปวดเสียว
  • เยื่อหุ้มข้อระคายเคือง เกิดการอักเสบ และสร้างน้ำในข้อมากขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด บวม
  • กล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกมีความแข็งแรงน้อยลง แรงกระแทกจึงเกิดกับผิวข้อมากขึ้น
  • เอ็นยึดข้อบางส่วนหย่อนยาน ทำให้ข้อแกว่ง หรือหลวมมากขึ้นเพิ่มการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
  • กระดูกรอบข้อมีการปรับตัวโดยสร้างกระดูกงอกขึ้นภายในข้อ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้น้อย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มเดินน้อยลง ทำให้กระดูกบริเวณข้อสะโพก และรอบ ๆ ข้อบางลง

ลักษณะอาการ

1. มีอาการปวดร่วมกับอาการขัดที่ข้อ
2. หากไม่รับการรักษาข้อสะโพกเสื่อม อาจเกิดกระดูก งอกรอบๆ ข้อ ถ้ากระดูกอ่อนที่รองอยู่สึกหายไปหมด
3. อาจทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง เมื่อกระดูกเสียดสีกัน และขาจะสั้นลง
4. หากอาการปวดรุนแรงจนต้องอยู่นิ่งๆ ไม่สามารถหมุน หรือเหยียดข้อสะโพกได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมข้อสะโพกอ่อนแอจากการใช้งานที่น้อยลง อาจส่งผลทำให้ขาอ่อนแรง

การตรวจรักษา
การวินิจฉัยโรคข้อสะโพกเสื่อม การซักประวัติ และอาการเจ็บป่วย เช่น ตรวจร่างกาย การเอกซเรย์ การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การสแกนด้วยคอมพิวเตอร์ การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอาการปวด ป้องการการยึดติด และเพิ่มสมรรถภาพในการใช้งาน การป้องกันรักษาด้วยตนเองเบื้องต้น ได้แก่ การลดน้ำหนักกรณีที่มีน้ำหนักมาก หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อสะโพก เช่น การยกของหนัก เป็นต้น การใช้ไม้เท้าพยุงเดิน การบริหาร ยืด เหยียด เพื่อป้องกันภาวะข้อยึดติด โดยปฏิบัติตามแนวทางการรักษาของแพทย์ การรับประทานยา และการทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีการข้างต้นแล้วยังมีอาการปวดมาก อีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา คือ การผ่าตัดซึ่งมีหลายวิธี โดยจะพิจารณาจากระดับความรุนแรง สาเหตุของภาวะเสื่อมร่วมกับอายุ และลักษณะการใช้งาน


การรักษาด้วยการผ่าตัด

1. การผ่าตัดส่องกล้องล้างข้อสะโพก
2. การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก เป็นการผ่าตัดเพื่อหมุนพื้นผิวของข้อที่ปกติเข้าสัมผัสกัน จะใช้เมื่อมีบริเวณใดบริเวณหนึ่งเสียหาย แต่บริเวณอื่นปกติ
3. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เพื่อทดแทนกระดูกอ่อนส่วนที่เสื่อมด้วยข้อเทียม
4. การรักษาด้วยวิธีนี้ได้รับความนิยม คือ กระดูกอ่อนด้านกระดูกเบ้าสะโพก และหัวกระดูกต้นขา เนื่องจากวัสดุที่ใช้ผลิตข้อสะโพกเทียมมีการพัฒนาจากเดิม ทำให้มีอายุการใช้งานที่ดีขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ