เส้นรอบเอว แค่ไหนถึงเรียก “อ้วน”
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
08-ก.พ.-2566
“ความอ้วน” ศัตรูร้ายที่ชอบเข้ามาจู่โจมแบบไม่ให้รู้ตัว แค่เผลอกินตามใจปากนิดหน่อย ก็ถูกคนรอบข้างทักหาว่าอ้วนขึ้นแล้ว แบบนี้คงต้องหันมาคอยสำรวจ (รอบเอว) ตัวเองแล้วล่ะ ก่อนที่ใครจะมาทักว่า...อ้วน


เส้นรอบเอว ต้อง “วัด” จากส่วนไหน

เส้นรอบเอว หมายถึง ขนาดของรอบเอวที่วัดผ่านระดับสะดือ สามารถบ่งบอกถึงความเสี่ยงทางสุขภาพได้ โดยวิธีการวัดเส้นรอบเอวที่ถูกต้องคือ ใช้สายวัดวัดรอบเอวผ่านระดับสะดือให้อยู่แนวขนานกับพื้น และไม่วัดแน่นหรือหลวมจนเกินไป เกณฑ์เส้นรอบเอวที่เหมาะสมนั้น ไม่ควรเกินส่วนสูง (เซนติเมตร) หารด้วย 2
ยกตัวอย่าง ผู้ที่มีส่วนสูง 160 เซนติเมตร หารด้วย 2 เส้นรอบเอวจึงไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร เป็นต้น เพราะหากมีเส้นรอบเอวเกินเกณฑ์ ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนลงพุง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง

เช็คลิสต์เทคนิควิธีวัดเอว

• การวัดที่ถูกวิธี คือวัดผ่านสะดือ
• การวัดที่ผิดวิธี คือ รัดแน่น
• การวัดที่ผิดวิธี คือ วัดเหนือสะดือ
• รอบเอวไม่เกินส่วนสูง (เซนติเมตร) หารด้วย 2


ลดพุง (หลีก) เลี่ยงโรค
อย่างไรก็ตาม หากเส้นรอบเอวมีขนาดเล็กลง ก็จะช่วยลดโอกาส และความเสี่ยงโรคต่างๆ โดยคุณหมอได้ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับการลดพุง/ ลดเอว โดย

1. การควบคุมอาหาร
ผู้หญิง 1600 Cal ผู้ชาย 2000 Cal
 1.1 รับประทานอาหารให้สมดุล ควบคุมสัดส่วนปริมาณอาหาร กลุ่มข้าว แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง นม ผลิตภัณฑ์นม และไขมัน ให้พอเหมาะในแต่ละวัน โดยผู้หญิงควรได้รับพลังงานวันละ 1,600 แคลอรี ส่วนผู้ชายควรได้รับพลังงานวันละ 2,000 แคลอรี
 1.2 รับประทานอาหารเช้าทุกวัน โดยเน้นมื้อเช้าเป็นมื้อหลัก เพื่อกระจายปริมาณพลังงานอาหารให้พอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย นอกจากนั้น ยังจะช่วยให้ร่างกายไม่หิวมากในช่วงบ่าย และควบคุมอาหารมื้อเย็นให้กินได้น้อยลง
 1.3 รับประทานอาหารแค่พออิ่มในแต่ละมื้อ ไม่ควรบริโภคจนอิ่มมากเกินไป
 1.4 รับประทานอาหารธรรมชาติ เช่น เมล็ดธัญพืช กลุ่มข้าว แป้ง ได้แก่ ข้าวกล้อง เผือก มัน ข้าวโพด กลุ่มน้ำมัน เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ถั่ว งา เพราะมีวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารสูง
 1.5 รับประทานผัก และผลไม้ที่ไม่หวาน ให้เพียงพอ และหลากหลายสี คือ เขียว ขาว เหลือง ส้ม ม่วง แดง น้ำเงิน เพื่อเพิ่มวิตามิน เกลือแร่ และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันโรคได้
 1.6 การทานอาหารมื้อเย็น ควรห่างจากเวลานอนไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง เพราะในช่วงเวลานอนหลับ ระบบประสาทจะสั่งงานให้ร่างกายพักผ่อน หากยังมีอาหารค้างอยู่ในท้อง จะทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน และเกิดการสะสมไขมันได้มากขึ้น
 1.7 หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม หรืออาหารในรูปไขมัน น้ำมัน มาการีน น้ำตาล แป้ง และเกลือ เช่น เค้ก คุกกี้ มันฝรั่งทอด โรตี และของดอง

2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และบริหารร่างกายลดไขมันเฉพาะส่วน เช่น การเล่นฮูล่าฮูป ซิทอัพ การออกกำลังกายโดยใช้ท่าแพลงก์

พญ.สุขุมาลย์ สว่างวารี
สูตินรีแพทย์เฉพาะทางมะเร็งนรีเวช และการผ่าตัดผ่านกล้อง
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ ALS