title
ปัจจุบันอัตราการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะพบในอายุระหว่าง 40-65 ปี หรือแม้แต่ในวัยหนุ่มสาวก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ไม่ทราบแน่ชัด แต่เนื้องอกในตับอ่อนบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งได้ปัจจัยบางอย่างที่เชื่อว่าอาจทำให้เกิดมะเร็งตับอ่อน คือ บุหรี่ และโรคเบาหวาน
อาการมะเร็งตับอ่อน
จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งว่าอยู่ส่วนใดของตับอ่อน มะเร็งจะพบมากที่ส่วนหัวของตับอ่อน ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองจากการอุดตันของท่อน้ำดีที่หัวตับอ่อนเป็นส่วนใหญ่ อาจคลำพบก้อนที่ท้อง ตับโต ถุงน้ำดีโต เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มะเร็งตับอ่อนที่เกิดขึ้นที่ส่วนหัวและส่วนปลายของตับอ่อนจะมีอาการปวดท้องร่วมกับปวดหลัง น้ำหนักลด ตับโต
การตรวจวินิจฉัย
ทำได้โดยการตรวจเลือด การอัลตร้าซาวด์ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ การส่องกล้องและฉีดสีเข้าไปในท่อตับอ่อน เรียกว่าการทำ ERCP
ระยะของโรคมะเร็งตับอ่อน สามารถแบ่งออกเป็น
ระยะที่1เนื้องอกยังอยู่ในตัวตับอ่อน ถ้าขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตรก็เป็นระยะ 1A ถ้าใหญ่กว่า 2 เซนติเมตรก็เป็นระยะ 1B การผ่าตัดก็มีโอกาสช่วยได้ค่อนข้างมาก
ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มีการลุกลามออกมาที่เนื้อเยื่อ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงตับอ่อน
- ระยะ 2A ยังไม่มีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
- ระยะ 2B มีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 3 มีการลุกลามไปที่หลอดเลือดรอบๆ ตับอ่อน และต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง
ระยะที่ 4 มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่ห่างไกลออกไป เช่น ตับ ปอด เยื่อบุช่องท้อง ลำไส้ กระเพาะอาหาร
การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด การตัดเอามะเร็งออกเพื่อหวังผลในการแก้ไข ผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดได้ คือผู้ที่โรคยังไม่มีการลุกลาม หรือลุกลามไม่มาก และมีสภาพร่างกายแข็งแรง แต่กรณีที่ตัดเอาก้อนมะเร็งออกไม่ได้การผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงน้ำดีเพื่อลดอาการดีซ่านหรือทางเบี่ยงให้กระเพาะอาหารเพื่อลดการอุดตันของทางเดินอาหาร เป็นวิธีที่ช่วยบรรเทา สำหรับในรายที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ แพทย์จะใช้วิธีอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ฉายรังสี เคมีบำบัด เป็นวิธีที่ใช้เพื่อประคับประคองอาการ
แนวทางการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า และสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับมลพิษ สารพิษต่างๆ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก และผลไม้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 0-2271-7000 ต่อ โรคระบบทางเดินอาหารและตับ