ตรวจหาเชื้อ HPV จัดการที่ต้นตอ ลดความเสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก”
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
28-ธ.ค.-2564
       อีกหนึ่งการป้องกันความเสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก” คือการตรวจคัดกรองกรองมะเร็งปากมดลูกเบื้องต้นด้วยการตรวจเจาะลึกระดับดีเอ็นเอเพื่อตรวจหาเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 14 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ 16, 18 และเอชพีวี อีก 12 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักสูงถึง 99% ของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง

เชื้อ HPV คืออะไร? ทำไมต้องตรวจหา?

       เชื้อ HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อเอชพีวี แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่กว่า 150 สายพันธุ์ แต่สำหรับผู้หญิง สายพันธุ์ 16 และ 18 สองสายพันธุ์นี้เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% สาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อเอชพีวีคือติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก หรือการใช้อุปกรณ์เพื่อสนองความต้องการทางเพศร่วมกัน และสามารถแพร่ผ่านรอยแผล หรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หากมีการสัมผัสผิวหนังหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย

การตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV) โดยตรงแบบเจาะลึกดีอย่างไร

       ปัจจุบันมีวิธีการตรวจหาเชื้อ HPV โดยตรง เป็นการตรวจแบบเจาะลึกระดับดีเอ็นเอ เป็นเทคนิคขั้นสูงแบบ Real-time PCR เป็นการตรวจระดับชีวโมเลกุลที่สามารถค้นหาเชื้อเอชพีวีได้ในระยะก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก ทำให้สามารถป้องกันและรักษาเชื้อเอชพีวีได้ก่อนที่เชื้อจะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก ความพิเศษของการตรวจนี้คือสามารถตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus Virus) กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 14 สายพันธุ์สำคัญที่สุดคือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบมากถึง 74% ในผู้หญิงไทยที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก และ 70% ในผู้หญิงทั่วโลก การตรวจพบได้เร็วจะช่วยให้ทราบความเป็นไปของสุขภาพร่างกายตัวเอง เพื่อวางแผนการดูแลและมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงแรกแพทย์จะติดตามบ่อยครั้ง และค่อยๆ ห่างออกไป เพื่อให้แน่ใจว่าหากตรวจพบเชื้เอ HPV แล้วไม่มีการพัฒนาของโรคเป็นมะเร็ง

       นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจเพื่อเช็คพร้อมก่อนฉีดวัคซีน HPV ได้อีกด้วย เพราะวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะมีภูมิต่อเชื้อ HPV type 6, 11, 16 และ 18 ดังนั้น หากตรวจหาเชื้อ HPV แล้วยังไม่ได้รับเชื้อก็จะได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนสูงสุด เพราะหากฉีดวัคซีน HPV แต่คุณชอบเปลี่ยนคู่นอน เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนแล้ว และได้รับเชื้อ HPV มาแล้ว ก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีน
 
เพิ่มความแม่นยำ ลดโอกาสเสี่ยง มะเร็งปากมดลูกมากยิ่งขึ้น

       การตรวจหา HPV แนะนำให้ตรวจร่วมกับ Pap Smear หรือ Thin Prep Pap เพราะจะมีความไวในการตรวจหามะเร็งปากมดลูกเกือบ 100% เมื่อเทียบกับการตรวจ Pap Smear หรือ Thin Prep Pap เพียงอย่างเดียว การตรวจควบคู่กันจะเพิ่มความแม่นยำในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ และถ้ามีการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็จะสามารถวางแผนให้การรักษาได้ทันท่วงที ทำให้โอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกจะลดลงด้วย สำหรับความถี่ในการตรวจซ้ำขึ้นกับอายุ และประวัติทางการแพทย์

ใครบ้างที่มีความเสี่ยง
       • ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
       • ผู้หญิงที่มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน เริม เป็นต้น
       • ผู้หญิงที่สูบบุหรี่
       • ผู้หญิงที่ขาดการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
       • ผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคนหรือมีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีคู่นอนหลายคน
       • รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน (โดยเฉพาะหากนานกว่า 5 ปีเพราะมีความเสี่ยงสูง)
       • ผู้หญิงที่มีผ่านการตั้งครรภ์ และคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง
 
ข้อแนะนำก่อนเข้ารับบริการ
       • ผู้หญิงที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากตรวจคัดกรองไม่พบความผิดปกติติดต่อกัน 3ครั้ง สามารถเว้นระยะการตรวจทุกๆ 5 ปี
       • ไม่ควรตรวจในช่วงมีประจำเดือน หรือหลังมีประจำเดือน 5-7วัน
       • งดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนตรวจ
       • งดใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือยาเหน็บช่องคลอดอย่างน้อย 48 ชั่วโมง
       • งดการสวนล้างช่องคลอดก่อนตรวจ 48 ชั่วโมง
 
ป้องกันให้ห่างไกลเชื้อHPV
       • เลี่ยงพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การมีคู่นอนคนเดียว ก็มีโอกาสติดเชื้อHPVได้
       • เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
       • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์ สามารถช่วยลดการสัมผัสสารคัดหลั่งในส่วนอื่นๆได้
       • ตรวจเชื้อHPV อย่างสม่ำเสมอ
       • ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร 1772 ต่อ ศูนย์สุขภาพสตรี