คุณครูและผู้ปกครองควรดูแลอย่างไร เมื่อหนูน้อยเป็นโรคสมาธิสั้น
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
17-มี.ค.-2566
       โรคสมาธิสั้น หรือ ภาวะสมาธิสั้น (Attention-Deficit Hyperactivity Disorder; ADHD) เป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานที่ผิดปกติของสมองบางส่วน ทั้งยังเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กอีกด้วย โดยมักเริ่มพบตั้งแต่วัยอนุบาลไปจนถึงประถม ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีอาการซน อยู่ไม่นิ่ง และมีพฤติกรรมก้าวร้าวในบางครั้ง ดังนั้น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และคุณครูที่โรงเรียนจึงต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อให้อาการเหล่านี้ของเด็กดีขึ้นตามลำดับ

วันนี้เราจึงมีข้อแนะนำในการดูแลเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นมาแนะนำให้ทราบ ดังนี้

การดูแลสำหรับผู้ปกครอง
1. ความเข้าใจ
       ผู้ปกครองสามารถช่วยเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกได้ ด้วยการทำทุกอย่างด้วยการมีสติ รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง ไม่ใช้ความรุนแรง รู้จักอดทน และรอคอย มีระเบียบวินัย ซึ่งสิ่งนี้ผู้ปกครองสามารถทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดู และทำตามได้
2. ตั้งข้อตกลง หรือตั้งกฎล่วงหน้า
       หากอยากให้เด็กทำอะไร ควรมีข้อตกลงกับเด็กล่วงหน้า หากเขาทำได้ ก็ตอบแทนด้วยการชื่นชม แต่หากทำไม่ได้ ก็ควรทำข้อตกลงล่วงหน้าก่อนเลยว่าจะมีการลงโทษอย่างไร ซึ่งไม่ควรรุนแรงเกินไป เพราะถ้ารุนแรง เด็กอาจจะต่อต้าน และก้าวร้าวยิ่งขึ้นได้
3. หาช่วงเวลาที่เหมาะสม และมีคุณภาพเพื่อใช้กับเด็ก
       ผู้ปกครองควรมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวกกับเด็ก เพื่อให้เด็กได้เกิดความใกล้ชิดกับผู้ปกครองมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์พัฒนาไปในทิศทางที่ดี
การดูแลสำหรับผู้ปกครอง
4. ส่งเสริมกิจกรรมที่เด็กชอบทำหรือทำได้ดี
       การหาจุดดีของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกดีกับตนเอง มองเห็นคุณค่า และเกิดความมั่นใจ ภาคภูมิใจในตนเอง เพราะเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นหลายคนมักจะติดขัดเรื่องการเรียน ซึ่งถ้าผู้ปกครองส่งเสริมในจุดที่เขาทำได้ดี เช่น กีฬา หรืองานศิลปะ ก็จะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้นได้
5. ช่วยเหลือ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
       ผู้ปกครองไม่ควรเกี่ยงกันดูแลลูก แต่ควรช่วยกันดูแล และส่งเสริมพัฒนาการของลูกจะเป็นการดีที่สุด

การดูแลสำหรับคุณครู
1. เชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีข้อดีเป็นของตนเอง
       คุณครูควรพยายามมองหา และสนับสนุนจุดเด่นต่างๆ ของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กมีความสุขในการเรียน และหากเกิดเหตุผิดพลาดก็ควรพูดคุยกันด้วยความเข้าใจและเมตตา สื่อสารกับเด็กโดยไม่ใช้อารมณ์ ให้เกียรติเด็ก ไม่ทำโทษให้เด็กรู้สึกอับอาย ก็จะทำให้เด็กร่วมมือกับคุณครูในการปรับพฤติกรรมได้มากขึ้น

2. ช่วยเรื่องการจัดการในห้องเรียน
       การจัดที่นั่ง การให้เด็กนั่งหน้าห้อง นั่งใกล้คุณครู หรือห่างไกลจากประตู หน้าต่างที่จะดึงความสนใจให้เด็กวอกแวก หรือจัดให้นั่งข้างๆ เด็กที่เรียบร้อย ไม่พูดคุยระหว่างเรียน และมีความรับผิดชอบ ก็จะช่วยให้เด็กมีสมาธิ จดจ่อในห้องเรียนได้มากยิ่งขึ้น หรือถ้าคุณครูเห็นว่าเด็กหมดสมาธิ ก็อาจเปลี่ยนกิจกรรมให้ทำ เช่น ให้ลบกระดาน ชวนให้จัดสมุด เด็กก็จะรู้สึกมีคุณค่าที่สามารถช่วยคุณครูได้
3. ช่วยเด็กในการรับประทานยา
       ในเด็กเล็ก เมื่อมียาที่ต้องรับประทานในมื้อกลางวัน ซึ่งเด็กอาจรับประทานยาเองไม่ได้ คุณครูจำเป็นต้องช่วยเตือนให้เด็กรับประทานยาให้ครบ สม่ำเสมอ และหากมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือผลข้างเคียงของยาที่คุณครูสังเกตเห็นได้ คุณครูก็สามารถแจ้งผู้ปกครอง หรือเขียนหนังสือมาถึงแพทย์ได้ ถือว่าเป็นการร่วมดูแลเด็กไปด้วยกัน
การดูแลเด็กที่มีสมาธิสั้นเป็นสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายไม่ควรปล่อยปละละเลย ผู้ปกครอง และคุณครู ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กให้เติบโตได้ตามวัย เพื่อให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

พญ.สุชาวดี พงศ์ธนวิสุทธิ์
จิตแพทย์
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ Let's talk