เพราะเหตุนี้ที่ทำให้เป็น..มะเร็งช่องปาก
มะเร็งช่องปาก มักเกิดกับกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือคนในแถบภาคอีสานที่ยังเคี้ยวหมากอยู่ การเคี้ยวหมากก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้ ทพ.ดุลยพงษ์ ยังกล่าวถึงงานวิจัยใหม่ๆ ในปัจจุบันว่า การติดเชื้อไวรัสก่อมะเร็ง อย่าง Human Papillomavirus (HPV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ก็เป็นอีกสาเหตุของปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งช่องปากเช่นกัน และการติดเชื้อ HPV ในช่องปากนั้น มีความสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก Oral sex
อาการแสดงของมะเร็งช่องปาก คือการมีแผลเรื้อรัง หรือมีก้อนนูนในช่องปากเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ เช่นเดียวกับการเกิดรอยขาว และรอยแดงในช่องปาก พร้อมกันนี้ ยังได้เสริมถึงลักษณะอาการของโรคมะเร็งช่องปากว่าแผล หรือก้อนดังกล่าวนี้ สามารถเกิดได้ทุกจุด แต่จุดที่พบบ่อย คือลิ้น ช่วงข้างลิ้น กับใต้ลิ้นที่เจอบ่อยที่สุด ซึ่งต่างกับแผลร้อนในตรงที่แผลจากมะเร็งในช่องปากจะไม่หายเป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ ส่วนลักษณะของแผล ก็จะมีทั้งแบบที่ขอบยกนูน ขอบแข็ง บางคนอาจไม่มีอาการเจ็บเลยก็ได้ แต่แค่เห็นว่าเป็นรอยแผล ซึ่งก็เคยมีเคสที่เป็นแผลมานานแล้ว แต่เจ้าตัวไม่มาพบหมอ มาพบอีกที สุดท้ายตรวจพบว่าเป็นมะเร็งในช่องปาก
ตรวจคัดกรอง ทางป้องกันก่อนจะสาย
ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง คุณหมอแนะนำว่าต้องตรวจคัดกรองมะเร็งในช่องปาก ซึ่งทำได้โดยการตรวจเนื้อเยื่ออ่อนทั่วไป “ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีแผลในช่องปาก อาจจะไม่รู้ว่าจะต้องตรวจหรือไม่ อย่างไร การตรวจคัดกรองด้วยเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากโดยทันตแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญ จึงเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยได้ เช่นเดียวกับรายที่ไม่มีอาการ แต่มีความกังวลก็สามารถมาตรวจได้เช่นกัน เพราะการตรวจเนื้อเยื่ออ่อนเป็นการตรวจเพื่อจะดูว่ามีมะเร็งในช่องปาก หรือรอยโรคก่อมะเร็งหรือไม่ หากว่ามีรอยโรค ก็จะข้ามไปอีกสเต็ปหนึ่งที่ต้องมีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจอย่างละเอียด ส่วนในแง่ของคนที่ไม่มีรอยโรคเลย แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือเคี้ยวหมาก รวมไปถึงการตรวจพบว่าติดเชื้อ HPV ในช่องปาก กลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ต้องมีการตรวจติดตาม เพื่อเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งช่องปากในผู้ป่วย จากประสบการณ์ของหมอที่เคยเจอเคสมีแผลมาเป็นปี แต่เจ้าตัวคิดว่าไม่เป็นอะไรเพราะไม่มีอาการ จนมาเจอหมอถึงได้ตรวจพบมะเร็งในช่องปาก เพราะฉะนั้นจึงเป็นการ Raise Awareness ให้เห็นว่าถ้ามีแผล หรือรอยขาว รอยแดงลักษณะแปลกๆ ในช่องปากก็ควรเข้ามาตรวจ โดยทันตแพทย์เฉพาะทางสามารถดูจากลักษณะด้วยตาได้เลย พอที่จะวินิจฉัยแยกโรค และวางแนวทางการรักษาได้คร่าวๆ ว่าต้องรักษาอย่างไร หรือต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบ หรือไม่”
การรักษาที่แตกต่างตามระยะของมะเร็ง
ก่อนที่จะเป็นมะเร็งช่องปาก มักมีลักษณะในช่องปากที่เป็นสัญญาณ สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง แต่รอยโรคเหล่านี้มักไม่มีอาการ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจว่าไม่เป็นอะไร พอมาพบหมอเพื่อตรวจก็มักจะมีอาการมากแล้ว คุณหมอได้บอกว่านั่นเป็นที่มาของการรักษาที่ยากลำบาก “ปกติผู้ป่วยที่ไม่ค่อยได้สกรีนมา ก็มักจะเป็นระยะท้ายๆ คือ ระยะที่ 3 – 4 แล้ว และมักจะมาพบหมอตอนที่อาการหนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีอาการอะไร หรือพอเกิดอาการขึ้นมาก็ต้องรอจนทนไม่ไหวแล้วถึงมาหาหมอ บางคนอาจมีอาการเจ็บ ชา มีเลือดออกผิดปกติ หรือฟันโยกผิดปกติ แต่บางคนก็อาจไม่มีอาการ มาทำการรักษาในระยะที่ 3 – 4 แล้วก็จะทำได้ยาก ซับซ้อนกว่า อัตราการรอดชีวิตก็จะต่ำว่า
ดังนั้น ถ้ามีการตรวจคัดกรองแล้วเจอตั้งแต่ระยะแรกๆ หรือระยะก่อนมะเร็ง การรักษาจะไม่ซับซ้อน โดยเฉพาะถ้าเป็นระยะก่อนมะเร็งอาจจะแค่ตัดออก แล้วคอยติดตามอาการต่อเนื่องเท่านั้น แต่หากเป็นมะเร็ง และเป็นในระยะแรกๆ มีขนาดเล็ก ไม่ได้ลามไปต่อมน้ำเหลืองหรือจุดอื่น ผลสำเร็จของการรักษาก็จะค่อนข้างสูง หากในระยะหลังที่มะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือมะเร็งมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง แพร่ไปอวัยวะอื่น ลักษณะนี้ถือว่าอันตรายแล้ว เพราะคุณสมบัติของมะเร็งทั่วไปไม่ว่าจะเกิดตรงไหน ก็สามารถลามไปยังส่วนอื่นได้ โดยเฉพาะถ้าลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง มะเร็งก็จะแพร่ไปตามต่อมน้ำเหลือง สู่อวัยวะอื่นๆ ได้ในที่สุด”
ลดปัญหา ด้วยการเคลียร์ช่องปากก่อนฉายรังสี
การฉายรังสี เป็นหนึ่งในวิธีรักษามะเร็งหลายๆ ชนิดในร่างกาย รวมถึงมะเร็งในช่องปาก ศีรษะ และลำคอ ก่อนจะถึงขั้นตอนรักษาด้วยการฉายรังสี คุณหมอได้ให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วยควรต้องทำการเคลียร์ช่องปากก่อน เพื่อลดปัญหาข้างเคียงของการฉายแสงในบริเวณนี้ “การเคลียร์ช่องปากก่อนการฉายรังสี ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะรายที่ต้องฉายรังสีบริเวณช่องปาก ศีรษะ และลำคอ เพราะมีผลกระทบกับต่อมน้ำลาย ทำให้ปากแห้ง ซึ่งเป็นเหตุให้ฟันผุได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้นรังสีก็จะส่งผลกระทบไปยังกระดูกด้วย กรณีที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณใบหน้า ช่วงขากรรไกร ถ้าต้องได้รับการถอนฟันในภายหลังจากการฉายรังสี กระดูกอาจจะไม่หาย หรือไม่ปิดกลับไปเป็นปกติ กลายเป็นกระดูกตาย คือ กระดูกโผล่ออกมาเรื่อยๆ บางรายต้องมีการตัดกระดูกออก อาจมีการติดเชื้อ หรือมีปัญหาอื่นๆ ตามมา นำไปสู่การรักษาต่ออีกมาก ในรายที่กระดูกตายกินบริเวณกว้างในขากรรไกรค่อนข้างเยอะ อาจต้องทำการตัดออกทั้งหมด
ดังนั้น ปกติหมอก็จะให้ผู้ป่วยเคลียร์ช่องปากก่อนดีที่สุดในเคสที่ต้องฉายแสง ต้องให้ทันตแพทย์ช่วยประเมินว่าควรเก็บฟันซี่ไหน ซี่ไหนที่ไม่ควรเก็บก็ต้องถอนออกก่อนที่จะฉายรังสี เพราะสุดท้ายหากฟันที่เก็บไว้เป็นฟันซี่ไม่ดี แล้วต้องมาถอนฟันหลังจากที่ฉายรังสีไปแล้วก็จะนำไปสู่เรื่องใหญ่ หรือทำให้กระดูกตายได้”
ทพ.ดุลยพงษ์ รุ่งเรืองระยับกุล
ทันตกรรมและรากเทียมดิจิตอล
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน