คนอ้วน นอนกรนเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
16-ต.ค.-2564
title       ที่มาของเสียงกรนเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การกรน คือ โรคความดันโลหิต เบาหวาน โรคหัวใจ โรคนอนกรน รวมถึงโรคอ้วน เสียงกรนเกิดจากการที่อากาศเคลื่อนตัวผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง โดยเฉพาะคนอ้วน หรือ มีโครงสร้างของใบหน้าในลักษณะคางสั้น ส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนต้นบริเวณโคนลิ้น และเพดานปากหย่อนลง และตกลงไปปิดกั้นทางเดินหายใจ ดังนั้น จึงเกิดเสียงกรน จากการพยายามให้แรงดันอากาศผ่านช่องทางเดินหายใจที่แคบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่านอนหงาย

ลักษณะของโคนลิ้นจะตกไปกั้นทางเดินของอากาศที่อยู่ด้านหลังมากยิ่งขึ้น ส่งผลสู่ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น และหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหมายถึงการไม่มีอากาศไหลผ่านทางเดินหายใจส่วนบน หรือหยุดหายใจได้

      คนอ้วนกับอาการนอนกรนมักเป็นของคู่กัน จริงๆ แล้วเสียงกรนมิใช่แค่เสียงที่ชวนรำคาญ แต่ยังกระทบกับคุณภาพการนอนเสี่ยงทางเดินหายใจอุดกั้น หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) สิ่งที่สังเกตได้ว่าภาวะการนอนในคืนนั้นๆ ของตัวเองเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น และหยุดหายใจขณะหลับไปชั่วขณะหรือไม่ คือ
  • รู้สึกว่าตนเองนอนหลับไม่เพียงพอ
  • ตื่นมาปวดศีรษะในตอนเช้า
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียน
  • ง่วง หลับผิดปกติในเวลากลางวัน
  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน สมาธิสั้น ความจำไม่ดี
  • รู้สึกอ่อนเพลีย
  • บางรายสะดุ้งตื่นในตอนกลางคืนเป็นช่วงๆ


ผลกระทบต่อสุขภาพ

      อาการแทรกซ้อน และโรคที่พบร่วมกับการนอนกรน คือ การง่วง หลับในเวลากลางวันมากผิดปกติ สมองมีความบกพร่องในการจดจำ ส่งผลกระทบต่อการทำงาน มีความยากลำบากในการขับรถ เพราะต้องข่มตาไม่ให้หลับ จึงมักเกิดอุบัติเหตุทางการจราจรได้บ่อยเนื่องจากเคลิ้มหลับ หากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลต่อร่างกาย และคุณภาพชีวิตตามมาได้ หรือเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง การทำงานของหัวใจผิดปกติ ไขมันในเลือดผิดปกติซึ่งมีอันตรายต่อชีวิตได้  การรักษาที่สำคัญที่สุด คือ การควบคุม และลดน้ำหนักร่วมกับการรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ (การใช้เครื่องช่วงหายใจแรงดันบวก (CPAP) เพื่อลดอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทั้งนี้การควบคุม และลดน้ำหนักที่ปลอดภัย คือ การจำกัดอาหาร และพลังงานอย่างเหมาะสม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พร้อมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ โรคระบบประสาทและสมอง