วัน | เวลา |
จันทร์ | 09:00 - 17:00 |
อังคาร | 09:00 - 17:00 |
พุธ | 09:00 - 17:00 |
พฤหัสบดี | 09:00 - 17:00 |
ศุกร์ | 09:00 - 17:00 |
จักษุแพทย์
รพ.เปาโล สมุทรปราการ
"โรคตา ถ้าเป็นโรคตาประเภทเฉียบพลัน เมื่อรักษาหายก็จบ ไม่ต้องพบหมออีกบ่อยๆ แต่ถ้าเป็นโรคเรื้อรัง เช่น ต้อหิน หรือม่านตาอักเสบ ก็จำเป็นต้องใช้ยาในระยะยาว หรือโรคเบาหวานขึ้นตาก็ต้องมีการนัดตรวจเป็นประจำ กลุ่มคนไข้โรคตาเรื้อรังต้องไม่หายตัวไปนานๆ เพราะต้องใช้ยาให้ครบและต่อเนื่อง บางคนพออาการดีขึ้นนิดหน่อยก็หยุดมาหาหมอ รอให้อาการเยอะแล้วค่อยมาใหม่ นอกจากโรคจะไม่หายแล้วอาจทำให้เป็นมากกว่าเดิมและรักษายากขึ้นอีกด้วย"
หลังจาก พญ.พรทิพา เจริญจิตรวัฒนา จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว คุณหมอมีโอกาสได้ไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นคุณหมอได้กลับมาศึกษาต่อด้านจักษุวิทยา ที่สถาบันเดิม และทำหน้าที่จักษุแพทย์มาจนปัจจุบัน
จักษุแพทย์ ดูแลดวงตา รักษาอย่างเข้าใจ
คุณหมอพรทิพา มักเปรียบโรคตาหลายชนิดว่าเป็น ‘โรคเงียบ’ เนื่องจากหลายโรคจะไม่มีอาการแสดงออกมาจนกว่าจะลุกลามรุนแรง แต่หากได้ตรวจสุขภาพตา จักษุแพทย์ก็สามารถตรวจพบได้ อย่างเช่น โรคต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อม หรือโรคที่สัมพันธ์กับทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบสมอง ระบบประสาท ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับดวงตา บางครั้งการมาพบหมอด้วยอาการทางตา คนไข้อาจเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบสมองก็ได้ คุณหมอพรทิพา จึงได้แนะนำว่า ทุกคนควรตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยทุกปีหรือทุก 2 ปี เพราะโรคทางตาบางโรค ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวว่าเป็น จนกว่าจะเข้าสู่ระยะที่อันตรายแล้ว
เมื่อคนไข้เข้ามาพบแพทย์ คุณหมอจะทำการตรวจด้วยการซักประวัติ ตรวจด้วยเครื่องมือเฉพาะ หากพบโรคก็จะให้คำแนะนำว่าต้องทำอย่างไร หากจำเป็นต้องรักษาด้วยการให้ยาหรือผ่าตัด ก็จะอธิบายให้คนไข้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง กรณีที่คนไข้มีปัญหาที่ซับซ้อนหรือโรคที่เฉพาะเจาะจงอันควรได้รับการรักษาจากจักษุแพทย์เฉพาะทางซึ่งปัจจุบันมีมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน คุณหมอก็จะทำการส่งต่อ หรือดูแลร่วมกันกับแพทย์เฉพาะทาง คุณหมอเล่าถึงการรักษาโรคตาว่า...
"ดวงตา เป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่เล็กและละเอียดอ่อน จึงมีความบอบบางมาก การรักษาหรือการผ่าตัดจะต้องมีความระมัดระวังในการใช้เครื่องมืออย่างเต็มที่ แพทย์ต้องใจเย็น ผ่าตัดอย่างเบามือ การผ่าตัดก็จะต้องใช้กล้องขยายช่วยดูตลอดเวลา จะผ่าตัดด้วยตาเปล่าแทบไม่ได้ การรักษาทุกขั้นตอนต้องมีการวางแผน มีการเตรียมตัว มีความพร้อมทั้งเครื่องมือและตัวแพทย์เอง เพื่อความปลอดภัยของคนไข้"
การรักษาโรคทางตาไม่น่ากลัวอีกต่อไป ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
โรคทางตา ส่วนใหญ่เป็นการรักษาด้วยยา นอกจากนั้น ก็รักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งปัจจุบันก็มีการผ่าตัดแบบไร้ใบมีด คือใช้เลเซอร์ เครื่องมือในการตรวจตามีค่อนข้างมาก อย่างเช่น กล้องส่องลำแสงแคบ (Slit Lamp) ที่จักษุแพทย์ทุกคนต้องใช้เพื่อขยายให้เห็นรายละเอียดของลูกตาส่วนหน้า ซึ่งเครื่องมือนี้ทำให้จักษุแพทย์แยกโรคได้ละเอียดมาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการซักประวัติประกอบด้วย เพราะปัญหาเกี่ยวกับดวงตาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และโรคที่เกิดกับแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน...
"ปัจจุบันเครื่องมือทันสมัยมากกว่าแต่ก่อน ทำให้หมอวินิจฉัยได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น แม่นยำมากขึ้น ที่สำคัญคือ คนไข้เจ็บตัวน้อยลง อย่างเช่น เมื่อก่อนมีการฉีดสีเพื่อถ่ายรูปดวงตา แต่ปัจจุบันสามารถถ่ายรูปดวงตาให้เห็นชัดเจนโดยไม่ต้องฉีดสีให้คนไข้เจ็บตัว ส่วนการผ่าตัดต้อกระจกซึ่งเป็นโรคตาที่พบมาก เมื่อก่อนใช้การผ่าตัดด้วยมือ แผลก็จะใหญ่ ใช้เวลาพักฟื้นนาน แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยสลายต้อ มีเทคโนโลยีของเลนส์แก้วตาเทียม คนไข้จึงมีแผลที่เล็กลงมาก เจ็บน้อยลง และผลการรักษาก็ดีกว่าแต่ก่อน"
ตรวจสุขภาพดวงตา ค้นหา เพื่อรักษาก่อนลุกลาม
ปัจจุบันโปรแกรมการตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลหลายแห่งก็จะมีการเพิ่มการตรวจตาเข้าไปด้วย สำหรับพื้นที่ในละแวกโรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ จะมีประชาชนที่ทำงานโรงงาน เป็นพนักงานช่าง พนักงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เกี่ยวกับแสง หรืองานที่ต้องดูฟิล์ม เกี่ยวกับการใช้สายตา หรือออกทำงานกลางทะเล ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป
ในปัจจุบัน รัฐเองก็สนับสนุนให้ประชาชนได้รับการตรวจสุขภาพตามากขึ้น โดยผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีอายุตามเกณฑ์และครบตามเงื่อนไข ก็สามารถเข้ารับการตรวจได้ คุณหมอพรทิพา แนะนำว่า...
"คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพของดวงตา ในความจริงแล้ว ทุกคนควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เริ่มตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียนหรือประมาณ 3-4 ขวบ ก็ควรตรวจเช็กสายตา เพื่อดูว่ามีการมองเห็นที่ปกติดีหรือไม่ มีตาเหล่ ตาเขหรือเปล่า เพราะว่าบางโรคหากเกิดในวัยเด็กแล้วได้รับการรักษาเร็วก็จะหายเป็นปกติได้ แต่หากปล่อยไว้แล้วมารักษาช้าไปก็อาจไม่หาย เช่นโรคตาขี้เกียจ หรือสายตาสั้นมาก ยาวมาก เอียงมาก ถ้ารีบรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคตาขี้เกียจในภายหลังได้ ส่วนผู้ที่มีอายุ 35-40 ปีขึ้นไป ก็ควรตรวจสุขภาพตาทุกๆ 1 ถึง 2 ปี แม้ว่าจะไม่มีอาการ เพราะโรคตาบางโรคอาจไม่แสดงอาการในระยะแรก เมื่อตรวจพบจะได้รีบรักษาไม่ให้ลุกลาม"