การฝากครรภ์ และภาวะครรภ์เสี่ยง
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
08-ม.ค.-2564
               การฝากครรภ์มีความสำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดแก่ทารกในครรภ์ โดยแพทย์จะช่วยให้คำแนะนำเป็นระยะๆ การตั้งครรภ์แต่ละเดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงของสรีระร่างกายในหลายๆ ด้าน ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษมากกว่าคนปกติ ทั้งนี้ การฝากครรภ์จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จะทราบได้ว่าอะไรที่ปลอดภัย ควรทำหรือไม่ควรทำ เพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างมีคุณภาพ ทำให้ทารกและตัวคุณแม่มีสุขภาพแข็งแรง

ภาวะครรภ์เสี่ยง คืออะไร
               การตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงต่างๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ อาจทำให้เกิดอันตรายเล็กน้อย หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งในขณะตั้งครรภ์ คลอด หรือหลังคลอด ภาวะครรภ์เสี่ยงสามารถแบ่งเพื่อให้คุณแม่เข้าใจง่ายๆ คือ

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ขึ้นไป ในวัยนี้จะมีความเสี่ยงในเรื่องของโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เบาหวาน ซึ่งส่งผลต่อลูกน้อย อีกอย่าง คือ มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะดาวน์ซินโดรมได้มากขึ้น
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิมเช่น โรคความดัน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต
สิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็นความเสี่ยงเมื่อแพทย์พบกับคุณแม่ตั้งครรภ์ แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่ามีความเสี่ยงในด้านใดบ้าง ทีมแพทย์จะมีการทำงานร่วมกับแพทย์ในสาขาต่างๆ หากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นเบาหวาน ทางสูตินรีแพทย์จะดูแลร่วมกับแพทย์เฉพาะทางด้านเบาหวาน หรือคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นโรคหัวใจ มีความดันโลหิตสูง ต้องรับประทานยาควบคุมอยู่ตลอดเวลา สูตินรีแพทย์จะปรึกษากับแพทย์ประจำตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือร่วมกับแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องมีความถี่ และละเอียดมากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ทั่วไป สูตินรีแพทย์อาจจะนัดตรวจถี่ขึ้นมีการตรวจพิเศษมากขึ้น ต้องเจาะเลือด หรือน้ำคร่ำ เป็นต้น สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่ ควรพบแพทย์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ หรือให้ดียิ่งกว่านั้น หากวางแผนที่จะมีลูกควรเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมตัวตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์ สามารถปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงสำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง หรือความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
การฝากครรภ์ และภาวะครรภ์เสี่ยง
              นอกจากนี้ ทีมแพทย์และพยาบาลยังสามารถให้คำปรึกษา แนะนำปัญหาต่างๆ เช่น อาการแพ้ท้อง,การควบคุมน้ำหนักครรภ์,การออกกำลังกาย โดยแพทย์จะทำอัลตราซาวด์เพื่อดูความผิดปกติของทารก รวมถึงทราบเพศของลูก เมื่ออายุครรภ์ได้ 4-5 เดือน

ป้องกัน ภาวะครรภ์เสี่ยง ได้อย่างไร
                 เตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ ด้วยการตรวจสุขภาพทั้งคุณแม่และคุณพ่อนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ และสามารถวางแผนการตั้งครรภ์ได้ชัดเจน สามารถควบคุมจัดการโรคก่อนที่จะตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง มีความสำคัญอย่างมากต่อความปลอดภัยของลูกน้อยและตัวคุณแม่เอง ซึ่งสามารถปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการดูแลตัวเองซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นกับภาวะที่คุณแม่เป็น ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการที่เหมาะสม

  • ฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์
  • มาพบแพทย์เป็นระยะตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์
  • งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงความสะเทือน หรือกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดผลต่อครรภ์ได้
  • ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์

  • ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว
  • จุกเสียดแน่นท้อง, อาเจียนมาก, รับประทานอาหารไม่ได้
  • ขนาดท้องเล็ก หรือใหญ่กว่าปกติ
  • เลือดออกทางช่องคลอด, มีตกขาวผิดปกติ, ปัสสาวะแสบขัด
  • เมื่อตั้งครรภ์ได้ 5-6 เดือนแล้วลูกยังไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อยลงจากปกติมาก

ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 1 ชั้น 4 โทร. 02-2717000 ต่อ สุขภาพสตรี