รู้จักโรคจิตเภท โรคทางจิตที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
10-ม.ค.-2566
       หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า “โรคจิตเภท” กันมาบ้าง แต่อาจจะยังไม่แน่ใจว่าแท้จริงแล้วโรคจิตเภทคืออะไร วันนี้ โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้น
โรคจิตเภทกับโรคจิตเวชแตกต่างกันอย่างไร?
       โรคจิตเวช หรือโรคทางจิตเวช คือปัญหาที่เกี่ยวกับจิตใจ เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมเรื่องความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์ โรคจิตเภท โรควิตกกังวล โรคแพนิค โดยศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับโรค และการรักษาเรียกว่าจิตเวชศาสตร์ และแพทย์ที่ศึกษาเฉพาะทางด้านนี้เรียกว่าจิตแพทย์
       ส่วนโรคจิตเภท หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Schizophrenia เป็นส่วนหนึ่งในโรคทางจิตเวช คือภาวะที่สมองมีความผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหรือการรับรู้ที่ผิดปกติ เช่น หลงเชื่อผิดๆ ว่าจะมีคนมาทำร้าย รวมถึงสัมผัสผิดปกติ มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือคำพูดที่ดูแปลกกว่าคนทั่วไป โดยโรคจิตเภทสามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่มักจะเกิดในวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
สาเหตุของโรคจิตเภท
       สามารถแบ่งได้เป็นปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ดังนี้
ปัจจัยภายใน
       เป็นสาเหตุหลักเลยก็ว่าได้ โดยเกิดจากสารสื่อประสาทรวนอาจมาจากร่างกายของผู้ป่วยเอง พันธุกรรม หรือสารเคมีที่ได้รับ เช่น สารเสพติด หรือยารักษาโรคอื่นๆ ของผู้ป่วยเอง
ปัจจัยภายนอก
       อาจมีสาเหตุมาจากโรคเครียด การเลี้ยงดู ครอบครัว การทำงาน หรือปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียดมาก โดยอาจเข้าไปกระตุ้นให้เกิดอาการได้
อาการ
       สำหรับอาการของโรคนี้มี 5 ข้อหลักๆ โดย 4 ข้อแรกจะเป็นอาการแบบบวก คือ แสดงกิริยามากกว่าคนทั่วไป และข้อสุดท้ายจะเป็นอาการแบบลบ คือ แสดงกิริยาน้อยกว่าคนทั่วไป
1. อาการหลงผิด คือ อาการที่ผู้ป่วยเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น
2. การรับรู้ที่ผิดปกติ คือ การที่ไม่มีสิ่งเร้าใดๆ เกิดขึ้น แต่ผู้ป่วยกลับคิดว่ามี เช่น หูแว่ว ภาพหลอน การได้กลิ่น หรือสัมผัส
3. การพูดผิดปกติ ตอบไม่ตรงคำถาม พูดไม่ปะติดปะต่อ หรือมีภาษาแปลกๆ ที่คนทั่วไปฟังแล้วไม่เข้าใจ
4. มีพฤติกรรมที่แปลกไป โดยเป็นผลมาจากความคิดที่รวน ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่แปลก เช่น ลุกขึ้นมารำ หรือเดินไปเดินมาไม่มีเหตุผล
5. อาการแบบลบ เช่น ไม่ค่อยมีอารมณ์กับสิ่งรอบตัว หน้านิ่ง เฉยเมย ไม่มีแรงบันดาลใจ เป็นต้น
นอกจากนั้นอาการของโรคจิตเภทยังสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะเริ่ม หรือระยะก่อโรค
       ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการด้านลบ แยกตัว ไม่ค่อยอยากทำอะไร อาการจะเริ่มก่อตัวแบบใช้เวลา 6 เดือนขึ้นไป
ระยะกำเริบ
       จะเริ่มเห็นอาการด้านบวกมากขึ้น เช่น หูแว่ว หลงผิด ระแวง พูดจาแปลกๆ โดยหากมีระยะกำเริบ ควรรีบพบแพทย์
ระยะหลงเหลือ
       เป็นระยะที่ผ่านการรักษามาแล้ว แต่ยังมีอาการหลงเหลืออยู่ เช่น จากระแวงมั่นใจว่ามีคนมาทำร้าย เหลือเป็นสงสัยว่าอาจมีคนจะทำร้าย โดยผู้ป่วยหลายคนเมื่อรักษาแล้วหายสนิท จะไม่มีอาการช่วงนี้
วิธีการรักษา
สามารถแบ่งได้เป็น 3 วิธี ดังนี้
1. ใช้ยาในการรักษา
       มีการให้ยาเพื่อปรับสารสื่อประสาท หรือสารเคมีในสมอง ให้กลับมาสมดุลเหมือนเดิม โดยจะมีทั้งยาที่ต้องรับประทานทุกวัน และยาฉีด มีทั้งแบบฉีดเดือนละครั้ง, 3 เดือนครั้ง และ 6 เดือนครั้ง เพื่อที่จะปรับสารสื่อประสาทให้สมดุลขึ้น แต่หากยา 2 ชนิดข้างต้นไม่ได้ผล ก็อาจจะต้องใช้การช็อตไฟฟ้า ซึ่งเปรียบเสมือนกับการรีเซ็ตผู้ป่วยใหม่อีกครั้ง

2. ปรับพฤติกรรมทางจิตใจของผู้ป่วย
       เช่น คลายความเครียดให้ถูกวิธี ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเภทให้มากขึ้น หากได้ยินเสียงหรือหูแว่ว ให้ตรวจสอบดูก่อนว่ามีคนพูดจริงหรือไม่ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้มากขึ้น
3. ความเข้าใจจากคนรอบตัว
       ควรมีการให้ความรู้กับครอบครัว และคนรอบข้าง ให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ และไม่มีการกดดันจนผู้ป่วยรู้สึกเครียด นอกจากนั้นยังควรฝึกให้เขากลับมาเข้าสังคมได้มากขึ้นอีกด้วย
       โรคจิตเภท เป็นโรคที่หลายๆ คนอาจจะยังมีความคิดแง่ลบกับผู้ป่วยอยู่ ดังนั้นหากลองทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้ป่วยเป็น ว่าเขาสามารถอาการสงบ และใช้ชีวิตร่วมกันกับคนปกติในสังคมได้ ก็จะถือว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่งนั่นเอง
พญ.อังค์วรา วงศ์อุดมมงคล
จิตแพทย์
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ Let's talk