แม้ “มะเร็งเต้านม” จะเป็นเรื่องที่คุณผู้หญิงไม่อยากพบเจอ แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดโรคแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติต่อมา คือ การรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งบางครั้งในความโชคร้ายอาจจะมีความโชคดีเหลืออยู่ คือ สามารถที่จะเก็บเต้านมไว้ได้ โดยที่ผลการรักษาแทบจะไม่แตกต่างกับการตัดเต้านมทิ้งทั้งเต้า แต่ในรายที่เก็บเต้านมไว้ไม่ได้ ปัจจุบันก็ยังมีเทคนิคการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ ทำให้ไม่รู้สึกว่าต้องสูญเสียอวัยวะไปเพื่อการรักษาโรคอีกด้วย
ทางเลือกการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม
หลังจากแพทย์ตรวจร่างกาย และวินิจฉัยจากฟิล์มแมมโมแกรม ร่วมกับการทำอัลตร้าซาวด์ แล้วพบมะเร็งเต้านม แพทย์จะแจ้งถึงวิธีการ และขั้นตอนในการเข้ารับการรักษาซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ
- ผ่าตัดเต้านมออกหมด (Mastectom)
- ผ่าออกเฉพาะก้อนมะเร็ง และเนื้อนมรอบๆ (Lumpectomy)
ในรายที่ยังสามารถเก็บเต้านมไว้ได้ แพทย์จะแจ้งข้อดี ข้อเสียของแต่ละวิธี ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ป่วยจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิธีผ่าตัด ว่าจะเก็บเต้านมไว้หรือ เอาออกไปทั้งหมด
การผ่าตัดเต้านมแบบเก็บเต้านมไว้ (Partial Mastectomy)
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่พบก้อนในเต้านมตำแหน่งเดียว ขนาดเล็ก และไม่พบการกระจายของก้อนบริเวณเต้านม การตัดก้อนมะเร็ง และเนื้อของเต้านมปกติที่อยู่รอบ ตัดห่างจากขอบของก้อนมะเร็งประมาณ 1 - 2 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะยังคงหัวนม ฐานหัวนม และเนื้อเต้านมส่วนใหญ่ไว้ แพทย์จะเอาเฉพาะส่วนที่เป็นก้อนเนื้อร้ายออก แต่วิธีนี้ต้องมีการฉายแสงร่วมด้วย จึงจะให้ผลเทียบเท่ากับการตัดเต้านมทั้งหมด หากต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกด้วยก็จะทำการผ่าตัดเพิ่มเติมส่วนรักแร้ไปด้วยในคราวเดียวกัน ภายหลังการผ่าตัดเต้านมผู้ป่วยสามารถรักษารูปร่างของเต้านมได้ แต่ขนาดอาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งก็ไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างมากนักในบางรายที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ และต้องมีการตัดเนื้อนมออกมาก อาจทำให้ขนาดเต้านมหลังผ่าตัดมีความแตกต่างกันมาก หรือผิดรูป
ปัจจุบันมี เทคนิคการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction) มาแก้ไขตรงจุดนี้
การผ่าตัดเต้านมเสริมสร้างเต้านมใหม่
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับคนที่เป็นมะเร็งเต้านม เพื่อลดความสูญเสียในอัตลักษณ์ของความเป็นหญิงให้กับผู้ป่วย ทำได้โดยการผ่าตัดเต้านม เพื่อนำเนื้อเยื่อที่บริเวณอื่นของร่างกายมาใส่แทน เช่น หน้าท้อง แผ่นหลัง สะโพก สะบัก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้วัสดุที่ทำเลียนแบบเต้านม ใช้ถุงเต้านมเทียม ปัจจุบันถุงเต้านมเทียมมีเทคโนโลยีการผลิตที่ดี ผลการศึกษาพบว่ามีความปลอดภัยมากขึ้น
ข้อดีของการใช้ถุงเต้านมเทียม คือ ผู้ป่วยไม่ต้องมีแผลผ่าตัดเต้านมเพิ่มเติมจากส่วนอื่นของร่างกาย เลือกขนาดรูปทรงให้เหมาะสมกับความต้องการได้ ใช้เวลาผ่าตัดสั้นกว่า และใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า การเลือกแนวทางผ่าตัดรักษาเต้านมเสริมเต้านมใหม่ ทำได้ทั้งแบบทำทันทีพร้อมการตัดเต้านม (ส่วนใหญ่จะทำร่วมกับการตัดเต้านมแบบเก็บเต้านม) หรือแบบทำภายหลังการตัดเต้านม ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการผ่าตัดเต้านมเพิ่มขึ้น การเสริม หรือสร้างเต้านมใหม่ช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกมั่นใจมากขึ้น ลดความสูญเสีย สามารถกลับไปทำงาน และใช้ชีวิตได้ตามปกติ