ผ่าตัดต่อมทอนซิลออกเมื่อไรดี?
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
02-ก.ค.-2564
           อาการเจ็บคอเรื้อรังจากภาวะ “ต่อมทอนซิลอักเสบ” และ “ต่อมทอนซิลโต” ส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรม กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน บางรายต้องขาดเรียน หรือหยุดงาน แต่เมื่อได้รับการผ่าตัดนำต่อมทอนซิลออก จะช่วยทำให้ไม่เกิดการติดเชื้อบ่อยๆ หรือไม่เป็นแหล่งกักเก็บเชื้อโรคในผู้ป่วยที่เป็นเด็กหรือผู้ที่เคยมีอาการต่อมทอนซิลโต ก็จะทำให้หายใจโล่ง และกลืนอาหารสะดวกยิ่งขึ้น
ผ่าตัดต่อมทอนซิลออกเมื่อไรดี?
ต่อมทอนซิลคืออะไร จำเป็นต่อร่างกายเรามากน้อยแค่ไหน?
          “ต่อมทอนซิล” เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ภายในช่องปาก มีจำนวน 2 ต่อมด้วยกัน ทำหน้าที่ในการดักจับและทำลายเชื้อโรคก่อนเข้าสู่ร่างกายจากระบบทางเดินอาหาร แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นที่เก็บกักเชื้อโรค ส่งให้มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการเจ็บคอหรือต่อมทอนซิลโต ซึ่งในกรณีเป็นซ้ำบ่อยๆ ได้รับยาปฏิชีวนะในการรักษาแล้วไม่ดีขึ้น เชื้อโรคดื้อต่อยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดนำต่อมทอนซิลออก
เกณฑ์พิจารณาในการผ่าตัดนำต่อมทอนซิลออก
          การผ่าตัดต่อมทอนซิล (tonsillectomy) แพทย์จะทำก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ในเรื่องของการติดเชื้อเรื้อรัง (chronic tonsillitis) หรือเป็นๆ หายๆ (recurrent acute tonsillitis) โดยทั่วไปแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดต่อมทอนซิลตามอาการเหล่านี้
• มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง เนื้อเยื่อมีหนอง เนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ จากภาวะต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังโดยที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล
• มีอาการเจ็บคอ 5 ครั้งใน 2 ปี หรือ 7 ครั้งใน 1 ปี รู้สึกกลื่นอาหารลำบาก
• ในช่วงที่เจ็บคอ มีไข้สูง จนรู้สึกหนาวสั่น เนื่องจากต่อมทอนซิลมีหนองจำนวนมาก และรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล
• เมื่อต่อมทอนซินอักเสบ และโตมากๆ ส่งผลต่อการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจตอนนอน
• แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อโรคอย่างเช่น “เบต้า ฮีโมไลติก สเตรปโตคอคไค กรุ๊ปเอ” หรือเชื้อโรคคอตีบ หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ก็จำเป็นต้องตัดออก 
• มีกลิ่นปากรุนแรง และมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างลำคอโต ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
         ต่อมทอนซิลที่โตขึ้นจากการอักเสบบ่อยๆ นั้น เนื้อเยื่อของต่อมที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันจะถูกแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อพังผืด (fibrosis) ซึ่งเกิดตามหลังการอักเสบ ทำให้ต่อมทำหน้าที่ได้น้อยลงเรื่อย ในขณะเดียวกันร่างกายของเรายังมีต่อมน้ำเหลืออีกจำนวนมากในบริเวณศีรษะ และลำคอ ที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค ดังนั้น การผ่าตัดต่อมทอนซิลไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือของช่องปากลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด
การผ่าตัดต่อมทอนซิลทำได้อย่างไร?
         การผ่าตัดต่อมทอนซิลเป็นการผ่าตัดผ่านทางช่องปาก โดยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะใส่เครื่องมือเข้าไปทางช่องปาก ไปยังต่อมทอนซิล การผ่าตัดลักษณะนี้ผู้ป่วยจึงไม่มีบาดแผลใดๆ ที่มองเห็นได้จากภายนอก
ก่อนผ่าตัดต่อมทอลซินต้องเตรียมตัวอย่างไร?
         ผู้ป่วยจะต้องเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล 1 วันก่อนผ่าตัด โดยแพทย์จะทำการตรวจจำนวนเม็ดเลือดขาวและการตรวจเลือดอื่นๆ เพื่อเช็คความพร้อม หาความผิดปกติจากการหยุดไหลของเลือด รวมถึงการตรวจปัสสาวะเพื่อเช็คความผิดปกติของไต จากนั้นทำการเอ็กซเรย์ปอด โดยผู้ป่วยจะต้องงดน้ำ และอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนเข้าห้องผ่าตัด เพราะจะช่วยป้องกันอาการสำลักน้ำ และอาหารเข้าไปในปอดในระหว่างที่ทำการผ่าตัด
         ทั้งนี้ การผ่าตัดต่อมทอนซิลต้องใช้การดมยาสลบ วิสัญญีแพทย์ และพยาบาลจะมาให้ความรู้ และดูแลความสมบูรณ์ของร่างกายผู้ป่วยก่อนผ่าตัด การผ่าตัดต่อมทอนซิลแพทย์จะทำการผ่าตัดต่อเมื่อผู้ป่วยมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน มีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ งดการรับประทานยา เช่นในผู้ป่วยบางรายที่รับประทานยาบางชนิด เช่น aspirin หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจต้องหยุดยาดังกล่าวก่อนผ่าตัด
หลังผ่าตัดต่อมทอนซิลจะเป็นอย่างไร?
          ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับบ้านได้หลังผ่าตัด 24 - 48 ชั่วโมง หากรับประทานน้ำ และอาหารได้เพียงพอ และไม่มีภาวะแทรกซ้อน ใช้เวลาพักฟื้นทั้งหมดประมาณ 7-10 วัน หลังจากออกจากห้องผ่าตัดและฟื้นในชั่วโมงแรกๆ จะรู้สึกมีอาการเจ็บคอมาก และปวดแผลซึ่งจะค่อยๆ ลดน้อยลงหายเองภายใน 10 วัน

         สิ่งผู้ป่วยอาจจะต้องเจอคือ มีอาการเจ็บคอ กลืนอาหารหรือน้ำลายลำบากจากแผลผ่าตัด ทำให้รับประทานไม่ค่อยสะดวก อาจทำให้น้ำหนักลดได้ อาจมีน้ำลายปนเลือดออกมาได้บ้างเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการเลือดออก 
หลังผ่าตัดให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ไม่ร้อน พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด ไม่ขากเสมหะหรือไอแรงๆ  นอกจากนี้เสียงพูดอาจเปลี่ยนไป หลังจากผ่าตัดในสัปดาห์แรกๆ แต่พอแผลหายแล้วก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
        ทั้งนี้แพทย์จะนัดมาดูแผล และฟังผลชิ้นเนื้อ (ถ้ามีการส่งตรวจ) ประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และหลังจากนั้น 2-4 สัปดาห์ เพื่อติดตามผลการรักษา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 02-271-7000 ศูนย์ หู คอ จมูก