ปวดหลังร้าวลงขา ปวดจนนอนไม่หลับ อาจเสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
10-ส.ค.-2565
title     อาการปวดหลังมักเป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ ในทุกเพศทุกวัย ในเด็กหรือวัยรุ่นที่เล่นกีฬาอย่างหนัก เช่น นักกีฬายกน้ำหนัก หรือนักยิมนาสติ แต่พบมากในกลุ่มคนวัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากหลายๆ ปัจจัย อาทิ เกิดจาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ, การเสื่อมสภาพตามอายุและการใช้งาน, ความผิดปกติแต่กำเนิด, มะเร็งและเนื้องอกต่างๆ การติดเชื้อ ซึ่งอาการปวดหลังที่หลายๆ คนสงสัยคือ อาการปวดหลังลักษณะใดที่อันตราย และอาการปวดหลังแบบใดที่สามารถหายได้เอง เรามีคำตอบ

อาการปวดหลังที่กำลังเป็นอยู่อันตรายหรือไม่?
    ดังที่กล่าวมาอาการปวดหลังเกิดได้หลายสาเหตุ และเกิดได้จากอวัยวะหลายส่วน ซึ่งความอันตรายของการปวดหลังในผู้ป่วยแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับสาเหตุและตำแหน่งที่เกิดอาการ โดยอวัยวะที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ เช่น กล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณหลัง, กระดูกสันหลังและข้อต่อหลัง, หมอนรองกระดูกสันหลัง, ไขสันหลังและรากประสาทหลัง
    หากต้องการทราบว่าอาการปวดหลังที่เป็นอยู่นั้นเกิดจากสาเหตุอะไร ต้องเริ่มจากหมั่นสังเกตเวลาปวดหลังของตนเองว่ารู้สึกปวดแบบใด ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ ดังนี้
  • ปวดล้าๆ เมื่อยๆ มีจุดที่กดแล้วปวดมากขึ้น สาเหตุอาจเกิดจากกล้ามเนื้อ
  • ปวดร้าวเหมือนไฟฟ้าช็อต เช่น ร้าวจากคอไปปลายนิ้วมือ สาเหตุเหล่านี้อาจเกิดจากเส้นประสาทที่ถูกกดเบียดได้
  • ปวดตรงแนวกระดูกกลางหลัง มักจะเกิดจากตัวกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง หรือเอ็นยึดระหว่างกระดูกสันหลัง
  • ปวดหลังเยื้องออกมาด้านข้างอาจจะเป็นจากกล้ามเนื้อหลัง
  • ปวดหลังแบบมีอาการชา หรืออาการอ่อนแรงร่วมด้วย อาจเกิดความผิดปกติของระบบประสาท หรือเส้นประสาท อาจมีแนวโน้มจะเป็นโรคจากหมอนรองกระดูกสันหลัง
  • ปวดหลัง หลังจาก ยกของหนัก เล่นกีฬา อาจเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ
    อาการที่กล่าวมานี้หากเป็นเรื้อรังไม่สามารถหายได้เองเกิน 2 - 3 อาทิตย์ขึ้นไป ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้องเป็นหนทางที่ดีที่สุด โดยเฉพาะผู้มีประวัติของการเจ็บป่วยเป็นมะเร็งของคนในครอบครัว
ปวดหลังแบบนี้อันตรายและต้องรีบพบแพทย์
    สำหรับอาการปวดหลังที่มีอันตรายและต้องรีบพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีประกอบด้วยอาการดังต่อไปนี้
1. มีอาการชา หรืออ่อนแรงร่วมกับอาการปวดหลัง
2. อยู่เฉยๆ ก็ปวดหลัง (ปวดในขณะพัก หรือไม่มีกิจกรรม)
3. มีอาการปวดหลังพร้อมกับน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
4. ปวดหลังร่วมกับมีไข้ ไม่ว่าจะไข้สูงหรือต่ำ
5. ประสบอุบัติเหตุก่อนจะปวดหลัง

    นอกจากนี้ยังมีอาการปวดหลังเรื้อรังที่มักปวดมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีอาการปวดตอนกลางคืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ป่วยหลับไปแล้วมีอาการปวดจนต้องตื่นขึ้นมารับประทานยาแก้ปวดทุกคืน ถือเป็นอาการปวดหลังที่อันตราย และเพื่อป้องกันและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว เมื่อมีอาการปวดหลังเกิดขึ้น ควรจะได้รับการรักษาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ปวดหลังแบบไหนถึงจำเป็นต้องผ่าตัด?
แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดจากอาการและข้อบ่งชี้ของโรค เช่น มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ลุก นั่ง ยืน เดิน ลำบาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้แพทย์จะทราบก็ต่อเมื่อทำการซักประวัติและการตรวจวินิจเพิ่มเติม เช่นการทำ MRI กระดูกสันหลัง และจะพิจารณาการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท มีอาการชา และอ่อนแรงเนื่องจากมีการกดทับเส้นประสาทที่ชัดเจนเป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ อาคาร 4 ชั้น 1 โทร. 1772 ต่อ กระดูกและข้อ