วิตามินบำรุงตา ป้องกันตาเสื่อมสภาพ
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
08-ก.พ.-2564

โรคตาที่เป็นปัญหาจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องพบกับมลภาวะต่างๆ แสงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงโรคเบาหวานที่อาจส่งผลเสียถึงการมองเห็น โรคตาที่พบได้บ่อย ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม (AMD) เป็นต้น สาเหตุหนึ่งมาจากความเสื่อมของดวงตาที่เกิดจากการสร้างอนุมูลอิสระ ดังนั้น จึงมีการนำเอาสมุนไพรและวิตามิน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเกิดอนุมูลอิสระมาใช้ประโยชน์ในการบำรุงสายตาเช่น โอเมก้า 3, วิตามินเอ, วิตามินบี, วิตามินซี, สังกะสี เป็นต้น

บางท่านอาจพบปัญหามองเห็นไม่ชัด หรือตาแห้ง กรณีนี้ โอเมก้า 3 สามารถช่วยได้ โดยเฉพาะ DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งในตระกูลโอเมก้า 3 มีการทดลองทางคลินิกโดยให้โอเมก้า 3 วันละ 3 ครั้ง ครั้ง ละ 2 x 1000 มก. และติดตามผลทุก 3 เดือนเป็นเวลา 1 ปี พบว่าสามารถลดอาการตาแห้ง ช่วยทำให้คุณภาพของน้ำตาดีขึ้น และบำรุงประสาทตา

 

ยังมีการวิจัยมากมายพบว่าโอเมก้า 3 จะช่วยผลิตน้ำตาให้มากขึ้น จึงช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้น ช่วยลดระดับความรุนแรงของอาการตาแห้ง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการสายตาพร่ามัว เราสามารถรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า DHA สูงได้จากสัตว์ โดยเฉพาะปลา ทั้งปลาทะเล และปลาน้ำจืด อาจจะมีมากน้อยต่างกันตามแต่ละชนิด หรือธัญพืชจำพวกแฟล็กซีด (Flaxseed) เมล็ดเชีย และพืชตระกูลถั่ว

วิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญเกี่ยวกับการบำรุงสายตาคือ วิตามินเอ (Vitamin A) มีบทบาทสำคัญในการมองเห็น โดยเป็นองค์ประกอบสำคัญของโรดอปซิน (Rhodopsin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่ที่จุดรับแสง เรตินาในดวงตา โดยทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเยื่อบุตาและกระจกตา ช่วยในการมองเห็นในที่มืด การขาดวิตามินเอ อาจเกิดอาการที่รุนแรงได้เรียกว่า Xeropthalmia ในระยะแรกจะมีอาการตาบอดกลางคืน (Night Blindness) จึงควรได้รับวิตามินเอในการช่วยปกป้องเรตินาจากการทำร้ายของแสงยูวีและเพื่อการบำรุงสายตา

วิตามินเอ ที่อยู่ในอาหาร มี 2 ลักษณะ
1. 
วิตามินเอบริสุทธิ์ (Retinol) พบได้ในผลิตผลจากสัตว์ ได้แก่ ตับ ไข่แดง น้ำนม เนย
2. 
แคโรทีนอยด์ เช่น แคโรทีน ลูทีน ซีอะแซนทิน แหล่งของแคโรทีน คือ ผักผลไม้ที่มีสีส้มหรือสีเหลือง เช่น แครอท มะละกอ ฟักทอง มะม่วง ส้ม ขนุน เสาวรส และแหล่งของลูทีนกับซีอะแซนทินคือ ผักโขม ผักคะน้า ข้าวโพดหวาน บร็อกโคลี ถั่ว และผลไม้ที่มีสีแดง ส้ม เหลือง

วิตามินซี นอกจากลูทีนและซีอะแซนทินแล้ว ผลไม้ที่มีสีแดง ส้ม เหลือง ก็ยังให้ “วิตามินซี” สูง ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ดีเลยทีเดียว โดยมีการวิจัยพบว่า หากรับประทานวิตามินซีวันละ 490 มิลลิกรัมขึ้นไป สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคต้อกระจกได้ถึง 45% เพราะวิตามินซีเป็นสารที่ใช้ในการผลิตคอลลาเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของกระจกตาและเยื่อบุตา เช่นเดียวกับวิตามินอีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีที่อาจพบได้ในพวกถั่ว เมล็ดพืช ผักใบเขียว

นอกจากรับประทานวิตามินบำรุงสายตา ชนิดวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และกรดไขมันอื่นๆ ดังกล่าวการรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสีสูงก็ช่วยบำรุงดวงตาได้เช่นกัน โดยให้ผลดีต่อเรตินา และเป็นสารสำคัญในการทำงานของเอนไซม์ ช่วยชะลอความเสื่อมของจอประสาทตา สังกะสีพบได้ในเนื้อสัตว์ทุกชนิดและอาหารทะเล แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังวิธีปรุงอาหารด้วย เพราะหากปรุงด้วยวิธีการทอด หรือเลือกเนื้อสัตว์ชนิดติดมันมากเกินไป รับประทานบ่อยๆ นอกจากจะทำให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมอีกด้วย
วิตามินบี 2 (Riboflavin) ช่วยในการบำรุงสายตา เยื่อเมือกตาและม่านตา ถ้าขาด จะมีอาการเลือดออกในตา ตาไวต่อแสง อาการแสบตา ซึ่งทาง National Institute of Health ได้แนะนำขนาดต่อวันคือ 1.1-1.3 mg โดยจะพบวิตามินบี 2 ได้ในอาหารพวก ผลิตภัณฑ์นม เนื้อ ธัญพืชยังมีพืชสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ผลต่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ช่วยลดการเสื่อมของตาเช่น ขมิ้น โสม แปะก๊วย ชาเขียว
สุดท้ายนี้นอกจากกินอาหารที่มีวิตามินบำรุงสายตาแล้ว หากจำเป็นต้องใช้สายตามากๆ แนะนำให้พักสายตาทุก 30 นาที โดยการมองต้นไม้หรือวัตถุสีเขียว หรืออาจกระพริบตาให้บ่อยขึ้น ซึ่งจะเป็นช่วยคลายกล้ามเนื้อและเส้นประสาทดวงตา ช่วยลดความอ่อนล้าของตาได้ และควรควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสการเป็นโรคต่างๆที่อาจส่งผลต่อดวงตาได้

Personalized Rejuvenation Center อาคาร 4 ชั้น 1 โทร. 02-271 7000