อ้วนแล้ว...ทำไงดี?
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
29-มี.ค.-2566
     ผู้ป่วยโรคอ้วนส่วนใหญ่จะเคยพยายามควบคุมอาหาร และออกกำลังกายมาแล้ว แต่ด้วยอุปสรรคทางสรีระ และขีดจำกัดของร่างกาย จึงไม่สามารถลดน้ำหนักได้ตามที่คาดหวัง การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน เป็นแนวทางรักษาซึ่งจะช่วยจำกัดปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายจะได้รับจากอาหาร ร่วมกับการปรับลดระดับฮอร์โมน
ความอยากอาหารของผู้ป่วย สามารถลดน้ำหนักส่วนเกินของผู้ป่วยได้ 60-80% ภายในระยะเวลา 1-2 ปี นอกจากนี้ ยังให้ผลดีในการรักษาโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รวมถึงอาการนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และอาการปวดตามข้อต่าง ๆ อันเนื่องมาจากน้ำหนักตัว

เมื่อไหร่ถือว่าเข้าข่ายโรคอ้วน?
     โรคอ้วน หรือ Morbid Obesity หรือ ABCD (Adiposity-Based Chronic Disease) เป็นสภาวะเรื้อรังที่เกิดจากการสะสมไขมันในร่างกายมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ พิจารณาจากค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) หรือค่า BMI ที่โดยปกติจะอยู่ระหว่าง 20-25 หากค่า BMI สูงกว่า 30 จัดว่าเป็นโรคอ้วน สาเหตุหลักเกิดจากการได้รับพลังงานจากอาหารมากเกินไป โดยไม่ได้นำพลังงานที่ได้มาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ขาดการออกกำลังกาย ร่วมกับบางรายอาจมีความเสี่ยงทางพันธุกรรม หรือเกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ผลข้างเคียงจากยา หรือจากอาการป่วยทางจิตเวช
โรคอ้วนส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพแค่ไหน?
     หากเป็นโรคอ้วนจะเพิ่มโอกาสป่วยเป็นโรคในกลุ่ม NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง รวมถึงทำให้เกิดภาวะการหยุดหายในขณะหลับ และข้อเข่าเสื่อม ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น และมีอายุสั้นลง ในรายที่ระดับความอ้วนยังไม่มากนัก สามารถรักษาได้โดยการปรับพฤติกรรม (Lifestyle Modification) หรือการใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางต่อมไร้ท่อ ก็สามารถช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินได้ประมาณ 10% แต่กรณีอ้วนมากจนเข้าเกณฑ์ แพทย์จะพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัด

แนวทางผ่าตัดรักษาโรคอ้วน
     การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน ไม่ใช่การผ่าตัดเพื่อความงาม ไม่ใช่การผ่าตัดไขมัน หรือการดูดไขมันส่วนเกินออก แต่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ เพื่อให้สามารถควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วย ช่วยลดขนาดกระเพาะอาหาร และเปลี่ยนแปลงทางเดินของอาหารหลังจากรับประทาน ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป จนสามารถรับประทานอาหารได้น้อยลง เมื่อได้รับพลังงานจากน้อยลง ร่วมกับมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ และได้รับการออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญไขมันส่วนเกิน จะช่วยให้น้ำหนักลดลงได้อย่างยั่งยืน 

     ปัจจุบันแนวทางการรักษาโรคอ้วนที่ได้ผลดีสามารถทำได้โดยการผ่าตัดผ่านกล้อง ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด พักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันก็สามารถกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติ และเริ่มออกกำลังกายได้ ภายใน 1-2 สัปดาห์
คุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนไป หลังการผ่าตัดรักษา
     ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการผ่าตัด แต่ทั้งนี้ผลการรักษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับศัลยแพทย์ และการดูแลของแพทย์สหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยร่วมด้วย ส่วนใหญ่ภายในระยะเวลา 1-2 ปี สามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ 60-80% รวมไปถึงโรคประจำตัวต่างๆ มักจะดีขึ้นจนสามารถหยุดรักษาด้วยยาได้เกือบทั้งหมด ในบางรายอาจมีภาวะการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินและเกลือแร่ อาจจำเป็นต้องได้รับสารอาหารเสริมบ้างหากมีข้อบ่งชี้ 

     ทั้งนี้ ร่างกายจะสามารถปรับตัวให้สามารถกลับมารับประทานอาหารได้มากขึ้นทีละน้อย หลังจากผ่าตัดไปนาน 2-3 ปี ทำให้น้ำหนักอาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้กลับเข้าสู่ภาวะโรคอ้วนอีกครั้ง

สอบถามรายละเอียด เพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ คลินิกลดน้ำหนัก Weight wellness clinic
เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 09:00 - 17:00 น.