-
เป็นโรคหัวใจ...สิ่งไหนบ้างไม่ควรกิน?
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
08-ก.ค.-2567

เป็นโรคหัวใจ...สิ่งไหนบ้างไม่ควรกิน?

ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ การเอาใจใส่ในเรื่องของอาหารการกินนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากสารอาหารที่ร่างกายได้รับนั้นล้วนมาจากการบริโภคอาหารของเราทั้งสิ้น หากได้รับสารอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็อาจส่งผลให้มีสภาพร่างกายแย่ลง และเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้

 


อาหารประเภทไหน...ที่ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรกิน!

  • อาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง : เนื้อสัตว์แดงที่มีมันเยอะ ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารฟาสต์ฟู้ด เนย หรือผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันสูง รวมถึงอาหารทะเลบางชนิด เช่น กุ้ง ปลาหมึก หรือหอยนางรม เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีคอเลสเตอรอลสูง
  • อาหารแปรรูปที่มีไขมันสูง : เบคอน ไส้กรอก แฮม กุนเชียง และหมูยอ
  • อาหารที่มีรสชาติเค็มจัด : อาหารประเภทหมักดอง เช่น ปลาเค็ม ผักดอง กุ้งแห้ง ไข่เค็ม หรือกะปิ เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีส่วนผสมของโซเดียมและผงชูรสสูง
  • อาหารที่มีรสชาติหวานจัด : เค้ก คุกกี้
  • อาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันเยอะ : ของทอด หรืออาหารที่มีความมันจัด
  • เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน : เครื่องดื่มจำพวกชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม เนื่องจากคาเฟอีนมีผลให้ร่างกายตื่นตัว และมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นได้
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด

อาหารเหล่านี้ หากมีความจำเป็นต้องทานควรทานอย่างพอเหมาะ และอยู่ในการควบคุมการบริโภคอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันตัวเองจากโรคหัวใจ

 


วิตามิน...ตัวช่วยให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ

อีกตัวช่วยหนึ่งที่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ หรือเป็นการเสริมสร้างหัวใจให้แข็งแรงได้ คือ อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่าง “วิตามิน” ซึ่งประกอบไปด้วยวิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินซี เนื่องจากวิตามินเหล่านี้มีส่วนช่วยในการบำรุงหัวใจ ให้หัวใจทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพ โดยวิตามินแต่ละชนิดจะได้รับจากแหล่งใดบ้าง ดังนี้...

วิตามินเอ (Vitamin A) : แครอท ฟักทอง ผักโขม และมันเทศ หรือผักและผลไม้ที่มีสีส้ม สีเหลือง และสีเขียวเข้ม

วิตามินอี (Vitamin E) : เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ ถั่วลิสง ผักใบเขียว และน้ำมันบางชนิด เช่น น้ำมันพืช หรือน้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น

วิตามินซี  (Vitamin C) : ส้ม มะนาว กีวี สตรอว์เบอร์รี พริกหยวก ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และผักใบเขียว

อย่างไรก็ตาม วิตามินเหล่านี้ควรได้รับในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น หากได้รับมากเกินไปมักจะไม่จำเป็นต่อร่างกายและอาจส่งผลเสียแทนได้

 

นอกจากการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และหลีกเลี่ยงอาหารที่อันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจข้างต้นแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมด้วย ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้หัวใจแข็งแรง รวมถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตราย ไม่ใช่แค่ต่อหัวใจ แต่ต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมอีกด้วย

บทความโดย
แพทย์หญิงกิติยวดี พิริยะพงศ์ 
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรมหัวใจและหลอดเลือด
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ





สอบถามรายละเอียด
แผนก อายุรกรรมหัวใจและหลอดเลือด อาคาร 1 ชั้น 3
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2325-2326

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn